วันที่ 7 เม.ย.2559 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 70 องค์กร ที่รวมตัวในชื่อสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) แถลงจุดยืนต่อร่างรัฐะรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ โดยการจัดแถลงข่าวครั้งนี้ สชป.ย้ายสถานที่จัดประชุมวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มาที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแจ้งให้ขออนุญาต เพราะอาจเข้าข่ายชุมนุมทางการเมือง สมาชิก สชป.ระบุว่า การย้ายสถานที่ เป็นการยืนยันเสรีภาพในการพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อนออกเสียงประชามติ
สชป.วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น คือ สิทธิเสรีภาพและการกระจายอำนาจ ความเสมอภาค ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สิทธิผู้ใช้แรงงาน สาธารณสุข สิทธิผู้บริโภค และระบบการเมือง จากการพิจารณาพบว่า จุดแข็งของร่าง พบว่าได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ขณะที่ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่แม้จะมีบัญญัติไว้ แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดสิทธิทางตรงในการมีส่วนร่วมการเมือง และการกระจายอำนาจในทางปกครองและการจัดการทรัพยากร ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ช่วงท้าย สชป.ได้แถลงจุดยืนให้มีการเผยแพร่ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ตามหลักการทำประชามติ โดย สชป.มีบทสรุปร่วมกันว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมองว่าการรับเป็นปัญหามากกว่าการไม่รับ เหตุผลสำคัญ คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอย ขณะที่เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานของรัฐและบทเฉพาะกาลที่รับรองให้ คำสั่ง คสช. ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกคำสั่ง ประกาศ ที่มีการลิดลอนสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ได้ พร้อมเสนอให้มีทางเลือกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป เป็นการรวมตัวกันขององค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 70 องค์กร เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอรัฐธรรมนูญ เปิดประชุมครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน ด้วยแนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคประชาชน