เพลงคุมาโมโตะ โจ โน อูตะ หรือบทเพลงแห่งปราสาทคุมาโมโตะ โดยวง Egu-Splosion ที่ได้ คุมามง มาสคอตประจำจังหวัด มาเป็นนักแสดงนำในเอ็มวี กำลังเป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทำยอดวิวทางยูทูบแล้ว 600,000 ครั้ง หลังเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมและมีแฟนเพลงนำท่าเต้นเข้มแข็งแฝงความน่ารักไปคัพเวอร์กันอีกหลายเวอร์ชั่น โดยเจ้าหน้าที่ของคุมาโมโตะหวังให้คลิปทำยอดวิวทะลุหลักล้านเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมาเยือนปราสาทคุมาโมโตะตลอดทั้งปีนี้ แต่ความหวังทั้งหมดต้องพังทลาย เมื่อปราสาทที่สัญลักษณ์ของเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปราสาทคุมาโมโตะ ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 ปราสาท ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดย คาโต้ คิโยมาสะ ยอดขุนพลซามูไร ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างปราสาทและป้อมปราการ ตัวปราสาทสูง 30 เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้น เดิมชั้นบนใช้เป็นหอสังเกตการณ์ ส่วนกำแพงหินด้านล่างออกแบบให้มีความโค้งชัน เพื่อป้องกันข้าศึก ทั้งยังใช้เป็นที่กลิ้งก้อนหินเพื่อตอบโต้ผู้บุกรุก ตัวปราสาทเคยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากกลุ่มกบฏซัทสึมะเมื่อปี 1877 ทำให้หอกลางและส่วนต่างๆของปราสาทถูกเผาทำลาย โดยก่อสร้างใหม่ในปี 1960 ส่วน ฮอนมารุ โกเทน พาเลซ ที่พักและที่ทำงานของผู้ครองแคว้น ก็ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ในปี 2008
เหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่อง 2 ครั้งที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อปราสาทคุมาโมโตะอย่างหนัก ทั้งจากฟอร์ช็อกระดับ 6.2 แมกนิจูด ทำให้กระเบื้องและรูปปั้นวารีพยัคฆ์หล่นจากหลังคา ส่วนเมนช็อกระดับ 7.3 แมกนิจูดในวันถัดมา ทำให้กำแพงหินของปราสาทอายุ 400 ปีถล่มลงมา นอกจากนี้ป้อมปืน 2 ป้อมก็ถูกทำลายยังส่งผลให้ศาลเจ้าอาโซะ จินจา หนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นอายุนับพันปีได้รับความเสียหาย โดยหอไหว้และอาคารทางเข้าพังทลายลงในพริบตา
คาดการณ์ว่าการซ่อมแซมปราสาทคุมาโมโตะต้องใช้เวลาอีกนับปีกว่าจะกลับมาเปิดให้เยี่ยมชมได้อีกครั้ง แม้ความเสียหายจะสร้างความเศร้าใจต่อผู้พบเห็นแต่การยืนหยัดของหอกลางและโครงสร้างปราสาทโดยรวมที่ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ก็เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวคุมาโมโตะมีกำลังใจต่อสู้กับภัยพิบัติต่อไปเช่นกัน
การร่วงหล่นของกระเบื้องหลังคาปราสาทคุมาโมโตะ เป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบตั้งแต่ 400 ปีก่อน โดยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว กระเบื้องจะหล่นลงจากหลังคาทันที เพื่อทำให้หลังคามีน้ำหนักเบาลงและไม่พังทลายลงมาสร้างความเสียหายต่อตัวอาคารนั่นเอง