ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม. ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม 8 ขั้น

เศรษฐกิจ
19 เม.ย. 59
19:50
628
Logo Thai PBS
ครม. ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่ม 8 ขั้น
ครม. เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 8 ขั้น เพิ่มการลดหย่อน เพื่อลดภาระให้ผู้มีรายได้

วันนี้ (19 เม.ย.2559) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง ในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขยายวงเงินเพดานรายได้สูงสุด 4,000,000 บาท เพิ่มเป็น 5,000,000 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ จึงเริ่มตั้งแต่รายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้มีเงินได้ ตั้งแต่ผู้มีเงินได้ 150,001-300,000 บาท เสียภาษี 5% ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10% ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 500,001-750,000 บาทเสียภาษี 15% ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% และผู้มีเงินได้ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25% ผู้มีเงินได้ 2-5 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ผู้มีรายได้ 5 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 35

การปรับโครงสร้างภาษีเพิ่มเป็น 8 ขั้น ด้วยการปรับเพิ่มขั้นสุดท้ายเพื่อให้สอดคล้องกับผู้มีรายได้สูง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เสียภาษีร้อยละ 35 จำนวน 20,000 ราย จากผู้เสียภาษีทั้งหมด 10.3 ล้านราย เมื่อคำนวณแล้วอัตราภาษีเฉลี่ยของบุคคลธรรมดาประมาณร้อยละ 29 ขณะที่นิติบุคคล เสียภาษีอัตราร้อยละ 20 เมื่อรวมกับภาษีเงินปันผล ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมประมาณร้อยละ 8 นิติบุคคลจึงมีภาระภาษีร้อยละ 28 จึงใกล้เคึยงกัน และจะทำให้บุคคลธรรมดามีรายได้ประมาณ 26,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี ยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษีรอบใหม่ ส่งผลต่อรายได้รัฐหายไป 32,000 ล้านบาท และการปรับปรุงโครงสร้างในครั้งนี้ จะดึงผู้มีรายได้เข้าระบบมากขึ้น

การปรับเพิ่มค่าลดหย่อน ประกอบด้วย ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ ส่วนบุคคลจำนวน 30,000 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 60,000 บาทต่อปี ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรส 30,000 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 60,000 บาทต่อราย การหักค่าใช้จ่ายประจำปีจากเดิมร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็นการหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และค่าลดหย่อนจาการมีบุตร จากเดิมได้รับการลดหย่อนคนละ 15,000 บาทต่อ 1 คน ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็นหักลดหย่อย 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร เนื่องจากปัจจุบันคนสมัยใหม่นิยมีบุตรน้อย เพราะภาระค่าครองชีพสูง จนกลัวว่าจะกระทบต่อโครงสร้างประชากรของประเทศ โดยมีอัตราการเกิดเพียงร้อยละ 1 และอาจทำให้คนวัยชรามีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ทำให้ก้าวสู่สังคมวัยชรา จึงต้องการส่งเสริมการมีบุตรเพิ่มขึ้น

นายอภิศักดิ์ ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรอภาวะเศรษฐกิจขยายตัวให้เหมาะสม และขณะนี้ยังบริหารจัดการรายได้ของรัฐบาลอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง