กิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 โดยกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาซึ่งนำโดยนายสิรวิชญ์ ได้ขึ้นรถไฟจากสถานีบางกอกน้อยไปยังอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรขันธ์ เพื่อไปจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตในการการก่อสร้างโครงการ แต่ระหว่างทาง เจ้าหน้าที่ได้หยุดขบวนรถไฟ 225 ที่สถานีบ้านโป่ง จ.ราชบุรี และควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 30 คนไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาภายในพุทธมณฑล จ.นครปฐม ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำของวันเดียวกัน
ต่อมาพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจรถไฟ แจ้งข้อหาผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวจำนวน 6 คน ฐานขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ประกอบด้วย นายสิรวิชญ์, นายอานนท์ นำภา, นายกิตติธัช สุมาลย์นพ, นายวิศรุต อนุกุลการย์, น.ส.กรกนก คำตา และนายวิจิตร หันหาบุญ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ได้นัดมาฟังคำสั่งของอัยการศาลทหารว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2559 แต่ศาลทหารได้เลื่อนฟังคำสั่งมาเป็นวันนี้ (25 เม.ย.2559) ซึ่งอัยการศาลทหารได้มีคำสั่งฟ้องทั้่ง 6 คน
ภายหลังสั่งฟ้อง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้นำจำเลยทั้ง 6 คน ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการยื่นขอประกันตัว ซึ่งต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 14.50 น. ศาลทหารได้อนุญาตประกันตัวจำเลยคดีส่องโกงราชภักดิ์ ด้วยเงินสดคนละ 40,000 บาท และมีเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว คือ ห้ามจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศเว้นเเต่ศาลอนุญาต
ขณะที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ออกแถลงการณ์เรื่องการสั่งฟ้องและฝากขังผู้เข้าร่วมกิจกรรม "นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" โดยระบุว่า การสั่งฟ้องผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 6 คนของอัยการศาลทหารเป็นการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อประชาชนที่เพียงตั้งคำถามต่อความสุจริตโปร่งใสของโครงการ
พร้อมกันนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เรียกร้องให้ถอนฟ้องบุคคลทั้ง 6 คนและให้กลับไปใช้กระบวนการของศาลยุติธรรมในคดีพลเรือนดังเดิม