วันนี้ (30 เม.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร และใช้เชื้อเพลิงจากถ่านแทนการใช้แก๊ส เป็นวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายของ น.ส.วรรณา พิศสวาสดิ์ แรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่เนื่องจากต้องเลี้ยงดูบุตรหลานรวมถึงพ่อแม่ เฉพาะค่าอาหารจึงตกอยู่เดือนละ 6,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายในการเรียน รายได้จากการทำงานเพียงวันละ 300 บาท และรับจ้างทั่วไปในบางวัน รวมประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน จึงแทบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ขณะที่ ผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานในเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 2558 ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พบว่า อัตราค่าครองชีพต่อวันสูงกว่ารายได้ 300 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มมื้อเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น ค่าเดินทาง ค่าน้ำประปา ค่าเสื้อผ้ารองเท้า ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และค่าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน รวมค่าครองชีพต่อวันอยู่ที่ประมาณ 360 บาท
ทำให้ปัจจุบันแรงงานต้องทำงานล่วงเวลามากขึ้น เพื่อให้ได้เงินเพียงพอกับค่าครองชีพ แต่เมื่อทำงานมากก็ส่งผลต่อสุขภาพ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงเห็นว่า ควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
ส่วน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า แม้ราคาสินค้าจะสูงขึ้นแต่ก็เป็นไปตามกลไกตลาด อยู่ในระดับที่ประชาชนยังรับได้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมจึงควรอยู่ที่ร้อยละ 5-7 หรือไม่เกิน 315 - 321 บาท
ด้าน สิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เห็นว่า แม้ว่าการส่งออกของไทยขณะนี้จะดีขึ้นแต่อยู่ในภาวะเพิ่งฟื้นตัว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องพิจาณาจากอัตราค่าครองชีพ ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งขณะนี้อนุกรรมการเฉพาะกิจอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ภายในเดือน มิ.ย. 2559