ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ม.มหิดล ทำหมันยุงลายสำเร็จ เตรียมปล่อยลดไข้เลือดออกที่ฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรกของโลก

สังคม
3 พ.ค. 59
06:52
549
Logo Thai PBS
ม.มหิดล ทำหมันยุงลายสำเร็จ เตรียมปล่อยลดไข้เลือดออกที่ฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรกของโลก
มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนายุงสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและไข้ชิกุนคุนยาสำเร็จ โดยใช้วิธีการทำให้ยุงเป็นหมันแล้วปล่อยออกสู่ธรรมชาติเพื่อลดจำนวนยุงที่เป็นพาหะ คาดเริ่มโครงการนำร่องปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

วันนี้ (3 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อด้วยการฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ ที่สกัดได้จากยุงลาย สวนเข้าไปในยุงลายบ้านและปล่อยให้ไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน ช่วยลดจำนวนยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้ จากนั้นจะนำยุงลายบ้านตัวผู้สายพันธุ์ที่พัฒนาแล้ว มาฉายรังสีปริมาณอ่อนก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อทำให้ยุงตัวดังกล่าวเป็นหมันอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ แม้จะผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ หากยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วหลุดออกไปในธรรมชาติ ก็จะไม่สามารถนำเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไข้ชิกุนคุนยามาสู่คนได้ ซึ่งการทำหมันยุงทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ จะไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกปล่อยสู่ธรรมชาติจะตายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่แพร่พันธุ์ต่อ

โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ เฉพาะยุงลายบ้านตัวผู้ที่กินแต่น้ำหวานและไม่กินเลือดเท่านั้น ที่จะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปฉายรังสีในปริมาณอ่อนก่อนปล่อย ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยคาดว่าจะสามารถปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่ถูกทำหมัน 2 ขั้นตอนแล้วในโครงการนำร่องเพื่อลดจำนวนยุงลายบ้านในธรรมชาติที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่แรกของโลกภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และประเมินทุก 6 เดือน หากสำเร็จจะร่วมกับต่างประเทศตั้งโรงงานเพาะพันธุ์ยุงตัวผู้ทำหมันควบคุมโรคและส่งออกต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง