วันนี้ (3 พ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกอากาศรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ชนะประมูลทีวีดิจิทัล จำนวน 24 ช่อง ซึ่งเกิดจากการประมูลใบอนุญาต จาก สำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ปลายปี 2555 แต่ขณะนี้ มีผู้ประกอบการอย่างน้อย 8 ช่อง ได้แก่ ช่องพีพีทีวี, ไทยรัฐทีวี, ช่องวัน, จีเอ็มเอ็ม25, ไบร์ททีวี, นาว26, เนชั่นทีวี และสปริงนิวส์ทีวี ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล และเยียวยาผู้รับใบอนุญาต รวม 9 ประเด็น ได้แก่
1.ผ่อนผันกำหนดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลงวดที่ 3 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 25 พ.ค.2559 และงวดถัดไปออกไป โดยขยายระยะเวลาอีก 1ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพิ่ม หรือ 2.ให้ขยายระยะเวลาใบอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ ออกไปอีก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตมีผลใช้บังคับ เพื่อชดเชยความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล
3.ออกประกาศกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปีแบบขั้นบันได กำหนดยกเว้นอัตราขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมสูงสุด พร้อมทั้งคิดค่าธรรมเนียมตามฐานรายได้ (Progressive rate) โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีและการนำส่งเงินเข้ากองทุน กทปส. จนกว่าการเปลี่ยนผ่านจะเสร็จสมบูรณ์
4.สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่งสัญญาดาวเทียม โดยคิดค่าใช้จ่ายตามจริง ทั้งระบบซีแบนด์และเคยูแบนด์, 5.สนับสนุนการจัดทำระบบสำรวจความนิยม(Rating) และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการจัดทำเรทติ้งใหม่อย่างน้อย 5 ปี, 6. ควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) และให้เก็บค่าบริการโครงข่ายเท่ากันทุกราย โดยเริ่มเก็บค่าบริการเมื่อครอบคลุมทั่วประเทศ
7.ขยายระยะเวลาหมดอายุคูปองจนกว่าการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลจะสมบูรณ์ และกำหนดมูลค่าคูปองเพิ่มเป็นอย่างน้อย 1,200 บาท เพื่อซื้อกล่องรับสัญญาณและเสาอากาศ, 8.จัดทำแผนการยุติการส่งสัญญาณระบบอนาล็อกให้สมบูรณ์โดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือล้มเหลว และ 9.มีมาตรการเกี่ยวกับการยุติการให้บริการทีวีดิจิทัล และการคืนใบอนุญาต เพื่อลดความเสี่ยงเชิงธุรกิจให้กับผู้รับใบอนุญาต ในกรณีไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และมีความจำเป็นต้องเลิกประกอบธุรกิจ
สำหรับการประกอบกิจการของธุุรกิจทีวีดิจิทัลนั้น เมื่อปี 2558 บริษัท ไทยทีวี ซึ่งชนะประมูล 2 ช่อง ได้แก่ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้าทีวี ได้ขอยกเลิกประกอบกิจการ และให้เหตุผลต่อ กสทช.ขณะนั้นว่า บริษัทขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัท ไทยทีวี ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าชนะประมูลให้ กสทช.ได้ครบตามงวดที่เหลืออยู่รวมกว่า 1,700 ล้านบาท จึงได้ฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาลปกครองขณะนี้
ขณะที่การจ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในงวดที่ 3 จะครบกำหนดในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ซึ่งงวดนี้ทั้ง 24 ช่อง หากทุกช่องจ่ายได้ครบ จะทำให้ กสทช.มีรายได้จากส่วนนี้ จำนวน 8,653.4 ล้านบาท จากมูลค่าทั้ง 24 ช่องชนะประมูลในราคารวม 50,862 ล้านบาท แต่ยังเหลือที่ต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในงวดที่ 4 ปี 2560 จำนวน 8,653.4 ล้าบาท, งวดที่ 5 ปี 2561 จำนวน 7,134.4 ล้านบาท และปีสุดท้าย 2562 ที่ต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ 24 ช่อง รวมทั้งสิ้น 7,134.4 ล้านบาท