ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัย FAO ระบุอีก 34 ปี เอเชียแปซิฟิกวิกฤต ปชช.ขาดแคลนอาหาร 9.6 พันล้านคน

ภัยพิบัติ
12 พ.ค. 59
11:17
450
Logo Thai PBS
นักวิจัย FAO ระบุอีก 34 ปี เอเชียแปซิฟิกวิกฤต ปชช.ขาดแคลนอาหาร 9.6 พันล้านคน
ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ คาดหวังให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

ไทยพีบีเอสร่วมกับสหภาพวิทยุโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ABU) จัดการประชุมสุดยอดสื่อสารมวลชนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติปี 2559 หรือ 2nd ABU Media Summit on Climate Change and Disaster Risk Reduction ที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.2559 โดยมีเป้าหมายผนวกการทำงานของสื่อเข้ากับประเด็นโลกที่เคยถูกเน้นย้ำในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น

 

โรเบิร์ต กลาสเซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ในระยะหลังนี้อัตราการเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมีจำนวนลดลง


ขณะที่กรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและร่างปฏิญญาเซนได ที่มีการลงนามร่วมกันในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 1 ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2558 เป็นที่ยอมรับของนานาชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งการลดอัตราการเสียชีวิตเป็นเป้าหมายแรกของกราบเซนได โดยหลังจากนี้หวังว่าสื่อมวลชนจะมีวิธีการนำเสนอเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 

โบ ดาเมน นักวิจัยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยว่า อีก 34 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 โดยเฉพาะเอเชียแปชิฟิกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต ประชาชนจะขาดแคลนอาหารมากถึง 9,600 ล้านคน หากทุกประเทศยังขาดการตั้งรับและหากยังไม่มีการสื่อสารเรื่องนี้ให้มากพอ

นั่นก็หมายถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่ควรมีบทบาทมากกว่าการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะการให้ความรู้ ลงพื้นที่ สร้างความตระหนักถึงภัยพิบัติ กระจายข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา ตามกรอบการทำงานของเซนได

อัลลัน โดว์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาติ เปิดเผยว่า คนมักจะมองเรื่อง climate change แค่เรื่องโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่ม แต่ที่จริงแล้ว ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารของโลกด้วย ซึ่งประชากรโลกเพิ่มขึ้น แต่ด้วยภาวะโลกร้อนทำให้ผลผลิตโลกตกต่ำ นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากและเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า สื่อมวลชนหลายประเทศจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปชิฟิก นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้แทนชุมชนและตัวแทนจากสหประชาชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นสูงในทวีปเอเชีย ในงานประชุมสื่อมวลชนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จ.กระบี่

ตามกรอบการทำงานเซนได ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของโลกระยะเวลา 15 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2573) มีเป้าหมายในการสร้างการป้องกันและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ผ่านภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยมีพันธกิจที่จะต้องนำกรอบการดำเนินงาน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับปฏิญญาเซนได (Sendai Declaration) ขณะที่ในงานประชุมสื่อมวลชนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกหนึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในจังหวัดกระบี คือการทำประมงพื้นบ้าน อุณหภูมิทะเลที่สูงต่อเนื่องทุกปี ทำให้ชาวประมงหาปลาได้น้อยลง นั่นหมายถึงแหล่งอาหารของมนุษย์ลดน้อยลงด้วยกัน เพราะสัตว์น้ำไปที่ส่งไปขายในภัตคาร โรงแรม และร้านอาหารใน จ.กระบี่ รวมถึงกรุงเทพฯ ตอนนี้ได้รับผลกระทบแล้วหากเรายังเพิกเฉยต่อปัญหานี้

ติดตามการถ่ายทอดสดได้ที่ www.thaipbs.or.th/DRRMediaSummit2016/

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง