ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“แล้งรุนแรง” กลายเป็นภาวะ New normal บทเรียนภัยแล้งเวียดนาม เตือนรับมือ “ลานีญา”

ภัยพิบัติ
17 พ.ค. 59
11:41
1,597
Logo Thai PBS
“แล้งรุนแรง” กลายเป็นภาวะ New normal บทเรียนภัยแล้งเวียดนาม เตือนรับมือ “ลานีญา”
ขณะที่ไทยเผชิญภัยแล้ง น้ำต้นทุนในเขื่อนวิกฤตตั้งแต่ต้นปี 2559 ตอนใต้ของเวียดนาม บริเวณพื้นที่สุดท้ายก่อนแม่น้ำโขงไหลลงทะเลกำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงในรอบ 90 ปี กระทบพื้นที่ซึ่งผลิตข้าวให้เวียดนามกว่าครึ่งของผลิตทั้งประเทศ

เวียดนาม ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก กำลังถูกคุกคามด้วยสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน หนักสุดในรอบ 90 ปี สร้างความเสียหายพื้นที่เกษตรกรรมบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญ กำลังสร้างความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหาร ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตข้าวป้อนสู่ตลาดโลกของเวียดนาม

นาข้าวใน อ.สุคเตอ จ.เกียนซาง ตอนใต้ของเวียดนาม ที่เพิ่งลงแปลงปลูกช่วงก่อนสงกรานต์ขาดน้ำจืดเลี้ยงต้นข้าว เนื่องจากคลองส่งน้ำถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาไกลกว่า 25 กม.

ผลผลิตข้าวกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเวียดนาม อยู่ที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กินพื้นที่รวม 12 จังหวัด มีประชากรอาศัยอยู่ 17 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาเกษตรกรรม ปีที่แล้วสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงผลิตข้าวได้ 20 ล้านตัน แต่ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถูกคาดการณ์ว่าจะกระทบการผลิตข้าวในพื้นที่ลดลง 1 ล้านตัน พืชผลทางการเกษตรเสียหาย 57,000 ไร่ และประชาชน 2 แสนครัวเรือนต้องเผชิญการขาดแคลนน้ำจืด

 

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ เดินทางไปที่เมืองเกิ่นเทอ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เพื่อสำรวจผลกระทบของภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับไทย และกัมพูชา

ที่ตลาดไคราง บนแม่น้ำเหิ่ว เมืองเกิ่นเทอ ตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ผู้สื่อข่าวสำรวจราคาผลผลิตทางการเกษตรพบว่า บางประเภทราคาปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 พ่อค้าปลีกที่นำเรือมาซื้อแตงโม ผลไม้ที่มีแหล่งเพาะปลูกทางตอนใต้ของปากแม่น้ำโขง บอกกับไทยพีบีเอสว่า ราคาต่อกิโลกรัมปรับขึ้นจาก 6,000 ดอง เป็น 8,000 ดอง จากเมื่อ 2 เดือนก่อน ทำให้ราคาขายปลีกขยับขึ้นตามไปด้วย

พืชผลทางการเกษตรมีแหล่งปลูกรอบๆ เมืองเกิ่นเทอ โดยมากอยู่ทางตอนใต้ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภัยแล้งที่รุนแรงทำให้ราคาพืชผลปรับตัวขึ้นภายในช่วง 2 เดือน

นอกจากนี้ยังเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากปัญหาน้ำเค็มรุก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง ฟาน วัน ดุง ชาวจังหวัดเกียนซาง ต้องซื้อน้ำจืดเพื่อใช้ดื่ม ทำอาหาร และอาบน้ำ เดือนละกว่า 900 บาท เพราะน้ำบาดาลเริ่มมีความเค็มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2558 จนไม่สามารถใช้ดื่มกินได้

ชาว อ.อันเบียน จ.เกียงซาง อธิบายสภาพน้ำบาดาลที่มีความเค็มเพิ่มขึ้น ใช้งานได้เพียงกิจกรรมง่ายๆ อย่างการซักผ้า ล้างจาน ส่วนน้ำจืดที่ซื้อเพื่อใช้บริโภคราคาสูงขึ้นกว่า 2-3 เดือนก่อน จากโอ่งละประมาณ 140 บาท ขึ้นราคาเป็น 175 บาท

ศ.เหวียน ฮิว ทรุง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าวว่า ภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวแล้วประมาณ 1.25 ล้านไร่ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในปีนี้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ฤดูฝนที่สั้นลงเมื่อปีที่แล้วทำให้ปริมาณน้ำที่แม่น้ำโขงตอนบน ทั้งในจีน ไทย ลาว เวียดนาม ประกอบกับการมีเขื่อนในประเทศจีน และการผันน้ำโขงไปใช้ในแต่ละประเทศ ทำให้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ปลายน้ำ ต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำจืด

 

ศ.เหวียน อธิบายภูมิศาสตร์ของทรัพยากรน้ำของภาคใต้ของเวียดนามว่า ปริมาณน้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แต่ละปีจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่แม่น้ำโขงตอนบนในไทย ลาว กัมพูชา ปกติเวียดนามจะได้รับน้ำเพียงพอ แต่ปีที่ผ่านมา มีความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะปริมาณน้ำน้อยลงแม้ในฤดูน้ำหลาก เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจืดในแม่น้ำโขงที่ไม่เพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็ม ทำให้น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 20 กิโลเมตร กินพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นเขตน้ำจืดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนี้จากการเก็บสถิติค่าความเค็มของน้ำในหลายพื้นที่สูงกว่าตัวเลขของปี 2558 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เลี้ยงกุ้งในจังหวัดชายฝั่ง

“คลองสายหลักที่ส่งน้ำจืดให้พื้นที่ปลูกข้าวถูกน้ำเค็มรุก จากน้ำทะเลที่ดันเข้ามาแผ่นดินมากขึ้น เช่นที่แม่น้ำเหิ่ว เมืองเกิ่นเทอ น้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดินกว่า 60 กิโลเมตร มากกว่าปีก่อนๆ ที่รุกเข้ามา 40 กิโลเมตร”

ด้านนายเหวียน ฮิว เทียน นักวิจัยอิสระด้านทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้เป็นสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่สุด คาดว่าในอนาคตระดับความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดินจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งขึ้นจนเป็นภาวะปกติ ครั้งนี้อาจเป็น 1 ใน รอบ 90 ปี แต่ภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้อาจเกิดขึ้น 1 ครั้งใน 20 ปี เขามองว่า ในปีนี้ทั้งรัฐบาลเวียดนามและเกษตรกรเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือ จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจสำหรับพวกเขา เนื่องจากมีพื้นที่ใหม่ๆ ได้รับผลกระทบมากขึ้น

นายเหวียนเตือนว่า ในปีหน้าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอาจต้องรับมือกับปรากฏการณ์ลานีญา ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และแล้งรุนแรงในปีนี้ อาจเป็นรูปแบบใหม่ของภัยพิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง