วันนี้ (23 พ.ค.2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศรีลังกาต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 25 ปี ส่งผลให้กรุงโคลอมโบ จมอยู่ใต้น้ำและทำให้เกิดดินถล่มในหลายพื้นที่
ภัยพิบัติในครั้งนี้ส่งผลกระทบ 21 จังหวัด จากทั้งหมด 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดเคกัลเล ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโคลอมโบ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยมีดินถล่มทับหมู่บ้าน 2 แห่งและมีผู้เสียชีวิต ล่าสุดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 92 คน สูญหาย 109 คน และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก
ประชาชนกรุงโคลอมโบ ประมาณ 2 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย ทำให้ทางการต้องเร่งส่งความช่วยเหลือไปให้กับผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ยังมีประชาชนประมาณ 2 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย ทำให้ทางการต้องเร่งส่งความช่วยเหลือไปให้กับผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยเครื่องบินของกองทัพศรีลังกา
ได้หย่อนอาหารและน้ำดื่มให้กับประชาชน ที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งศรีลังกายังได้เปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
อินเดียส่งเครื่องบินและเรืออีก 2 ลำ มาช่วยเหลือในภารกิจกู้ภัย ขณะที่สถานกงสุลของศรีลังกาในนครดูไบ ประกาศขอให้ชาวศรีลังกาและผู้ที่อยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์
ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยบริจาคผ่านศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและแผ่นดินไหว ที่สถานกงสุลศรีลังกาในนครดูไบตั้งขึ้นมา
เงินที่ได้จากการบริจาคจะนำไปมอบให้กระทรวงจัดการภัยพิบัติของศรีลังกา ซึ่งการบริจาคเงินเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเงินไปจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็นได้ทันที
ส่วนสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลน"โรอานู"พัดถล่ม ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 24 คน
ขณะที่บ้านเรือนจำนวนมากพังเสียหาย ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ จิตตะกอง และบาริซาล
บังกลาเทศเร่งช่วยเหลือเหยื่อไซโคลน
หัวหน้าแผนกการจัดการภัยพิบัติบังกลาเทศเปิดเผยว่า บ้านที่สร้างจากแผ่นดีบุกและโคลนได้รับความเสียหายประมาณ 80,000 หลัง และในจำนวนนี้มีบ้าน 23,000 หลัง ได้รับความเสียหายทั้งหมด
สำหรับประชาชนประมาณ 50,000 คน ที่ต้องอพยพหนีคลื่นสูงหลายเมตรที่ซัดเข้าชายฝั่ง ล่าสุดเริ่มทยอยกลับเข้าบ้านเรือนแล้ว แต่ยังมีประชาชนประมาณ 1,000 คน ต้องละทิ้งบ้านเรือนไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ส่วนสนามบินนานาชาติจิตตะกอง หลังจากระงับการดำเนินการเป็นเวลา 2 วัน ขณะนี้ได้เปิดทำการแล้ว ขณะที่ทางการบังกลาเทศได้เร่งส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ รวมทั้งข้าวและอาหารแห้งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ