อุซมา ดารามั่น ครูอาสาสมัครครูจากมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทย แลนด์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการศึกษา เปิดเผยผลการศึกษาคุณภาพเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยพบว่า นักเรียนยังไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ตามเกณฑ์และระดับความรู้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก แม้จะได้รับการเรียนการสอนแบบเดียวกัน
"ในหนึ่งห้องมีนักเรียนที่สามารถเขียนเรียงความได้แล้วกับนักเรียนที่ยังไม่รู้เอบีซี ทำให้ต้องหาวิธีที่ตรงกับความสามารถของเขา" อุซมากล่าว
ผลการศึกษาของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ บางส่วนมีความสัมพันธ์กับผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่พบว่า คะแนนเฉลี่ยของวิชาภาษาอังกฤษในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในกรุงเทพฯ มีระดับคะแนนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 30.62 หรือไม่ถึงครึ่งจากคะแนนเต็ม และหากจำแนกตามรายสาระวิชา จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในกลุ่มสาระภาษาเพื่อการสื่อสาร ร้อยละ 30.90 รองลงมาคือสาระภาษา และวัฒนธรรม ร้อยละ 29.15
เทียนจิตร จันทิพย์ อาจารย์ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน โรงเรียนขยายโอกาส เขตประเวศ ระบุว่า ปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนขยายโอกาส ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคนิคการสอนและปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวนักเรียน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนของเด็ก
น.ส.ณัฐรดา เลขะธนชลท์ หัวหน้าฝ่ายองค์กรสัมพันธ์มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เปิดเผยว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ทำการศึกษาโรงเรียนขยายโอกาสสังกัดกรุงเทพมหานคร 26 แห่ง จาก 108 แห่ง ในระยะเวลา 4 ปี พบว่า นอกจากปัญหาฐานะทางครอบครัวที่ส่งผลต่อการเรียน เด็กหลายคนยังขาดแรงจูงใจ ไม่รู้ศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นความบกพร่องทางการเรียนรู้ไม่ใช่ทางสติปัญญา