เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเช้าวันนี้ (25 พ.ค.2559) ที่บ้านพักหลังหนึ่งใน ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยเฟซบุ๊ก "คนข่าวบางปะกง" รายงานว่า นายอัฎฐพร บุญมากช่วย อายุ 38 ปี ถูกงูเหลือมขนาดยาวกว่า 3.50 เมตรกัดอวัยวะเพศ ขณะกำลังเข้าห้องน้ำเมื่อเวลาประมาณ 06.30 น.
เมื่อรู้สึกว่าถูกกัดก็ได้จับคองูไว้และค่อยๆ งัดฟันงูออก จนกระทั่งงูเหลือมอ่อนแรงจึงยอมปล่อย ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว
น.สพ.ทักษะ เวสารัชชพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญนายสัตวแพทย์ 8 สวนงู สถานเสาวภา กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ตามธรรมชาติที่งูอยู่อาศัยเหลือน้อยลงกลายเป็นพื้นที่เมือง งูบางชนิดจึงมาอาศัยอยู่ตามท่อประปาในบ้านเรือน เพราะหาอาหารได้ง่าย เช่น จับหนูในท่อน้ำหรือจับสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือนเป็นอาหาร อีกทั้งใต้พื้นดิน ยังมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของงูหลายชนิด ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งที่พบมากสุดคือ งูเหลือม งูเขียวพระอินทร์ และงูเห่า
น.สพ.ทักษะ กล่าวว่า งูมักเลื้อยเข้าบ้านคนด้วย 2 ปัจจัย คือ ต้องการหาอาหารและหาที่หลบภัย และไม่ว่าบ้านจะมีลักษณะแบบใดงูก็สามารถเลื้อยเข้าได้หากมีรู เช่นเดียวกับใต้อาคารหรือบ้านที่ทรุดตัว จะมีลักษณะเป็นโพรงเหมือนถ้ำ อุณหภูมิใต้พื้นดินคงที่ไม่ร้อนเร็วหรือเย็นเร็วเกินไป ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่งูชอบ
"วิธีการดูแลป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้าน คือลดแหล่งอาหารของงู เช่น กำจัดหนูในบ้าน หรือจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้มีพื้นที่รก อับ และชื้น และตรวจสอบ ซ่อมแซมปิดโพรงรูรอบบ้าน เพราะอาจเป็นมุมที่งูสามารถไปหลบซ่อนตัวอยู่ได้" น.สพ.ทักษะกล่าว
น.สพ.ทักษะแนะนำว่า ในช่วงฤดูฝนสัตว์เลื้อยคลานจะมีจำนวนมากขึ้น หากพบสัตว์มีพิษไม่ควรเข้าไปจับอย่างเด็ดขาด เพราะอาจถูกกัดและเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ผู้พบเห็นสามารถแจ้งมายังสายด่วนดับเพลิง 199 หรือสายด่วน กทม.1555 เพื่อช่วยเหลือและจับสัตว์ต่างๆไปอยู่ในที่เหมาะสม
นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ระบบบำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลในบ้านเรือนหลายแห่งยังใช้วิธีการที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นไปตามหลักเทศบัญญัติ ซึ่งกำหนดให้ต้องทำบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลลงถังเก็บก่อนที่จะปล่อยไป ซึ่งปัญหานี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เล็ดลอดเข้ามาทำร้ายผู้อยู่อาศัยได้
นายพิชิตสันนิษฐานว่า บ้านที่เกิดเหตุงูเหลือมเลื้อยเข้ามาทางคอห่านนี้อาจจะไม่มีระบบถังบำบัดน้ำเสีย
นายพิชิต ยังกล่าวอีกว่า แต่ละบ้านควรมีการจัดการระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกต้องตามหลักสุขบัญญัติ การป้องกันจำเป็นต้องทำตามหลักสุขบัญญัติ ควรจะมีบ่อเกรอะ-บ่อซึม หรือถังสำเร็จรูป ขณะที่ในส่วนของท่อระบายน้ำก็ควรจะมีตะแกรงปิดฝ่าบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานมุดฝาท่อเข้าไปได้
ขณะที่ น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำ 5 วิธีการป้องกันงูเลื้อยขึ้นมาทางคอห่าน ดังนี้
1.ใส่ตะแกรงหรือช่องตาข่ายที่ปลายท่อน้ำทิ้งด้านนอกอาคาร ก่อนออกสู่บ่อเกรอะ
2.ใส่ตะแกรงหรือช่องตาข่ายของท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำและห้องส้วม
3.ก่อนเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมให้เปิดไฟให้มีแสงสว่างก่อน และส่งเสียงเตือนเพื่อให้งูหลบหนีไป
4.ก่อนใช้โถส้วมให้เคาะส่งเสียง และเปิดช้าๆ โดยสังเกตสิ่งผิดปกติภายในไปด้วย
5.ใช้สารเคมีจากน้ำยาดับกลิ่นผสมลงไปในคอห่านของโถส้วม