การร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนและสหพันธรัฐรัสเซียของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2559 ถูกตั้งคำถามว่ามีนัยยะสำคัญต่อการจัดซื้อรถถังจากประเทศนี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เพียง 3 เดือน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงก็เดินทางไปรัสเซียด้วยเช่นกัน
แม้ในเว็บไซด์ของทำเนียบรัฐบาลจะประกาศว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นเพียงการกระชับความสัมพันธ์ แต่ก็มีวาระสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่
งบประมาณจัดซื้อรถถังถูกบรรจุไว้ในงบของกองทัพบกเป็นงบผูกพัน 3 ปี วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถถังทดแทนของที่ใช้มานานกว่า 50 ปี
รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิ์รักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าหากรัฐบาลตัดสินใจให้กองทัพบกซื้อรถถังจากรัสเซียต้องดูรายละเอียดอย่างอื่น ไม่เพียงแค่ความชอบพอกับรัฐบาลทหารเท่านั้น
"ตอนนี้รัสเซียเป็นที่ยอมรับในการใช้อาวุธ เทคโนโลยีของเขาไม่เป็นรองใครแม้กระทั่งสหรัฐฯ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าไปซื้ออะไรมา เช่น รถถังของรัสเซียได้รับการยอมรับ แต่ในอดีตเราใช้รถถังในระบบอเมริกัน ถ้าจะเปลี่ยนไปใช้ของรัสเซียก็เป็นไปได้อยู่ แต่ต้องระวังให้มีความโปร่งใสในการจัดซื้อ และซื้อของที่คุ้มค่า มีคุณภาพและใช้ร่วมกันได้กับอาวุธอื่นๆ ที่เรามีอยู่ และต้องระวังไม่ให้จุดยืนทางการเมืองเป็นตัวชี้นำ เช่น ทางฝั่งตะวันตกไม่ชอบเราขึ้นมา เราก็เลยไปซื้อของที่ด้อยคุณภาพกว่ามาจากฝั่งประเทศที่คุยกับเราได้ ต้องระวังตรงนี้" รศ.ฐิตินันท์กล่าว
กว่าสองปีของการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 งบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกจับตา
หลังการแปรญัตติงบประมาณปี 2559 แม้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดจะยังเป็นกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้รับงบประมาณ 500,000 ล้านบาท แต่กระทรวงกลาโหมก็เป็น 1 ใน 5 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับ 4 โดยได้รับงบ 207,000 ล้านบาท รองจากงบกลางและกระทรวงมหาดไทย
น่าสังเกตว่า ปี 2559 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณสูงกว่าปี 2558 ถึง 14,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.3 ในจำนวนนี้ กองทัพบกได้รับงบประมาณสูงถึง 102,000 ล้านบาท โดยกองทัพบกมีแผนใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปรองดองสมานฉันท์และเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ
หากมองย้อนไปเมื่อปี 2549 ก่อนการยึดอำนาจจากรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณเพียง 85,000 ล้านบาท หลังจากนั้นงบประมาณกระทรวงนี้ก็เพิ่มขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์
นักวิชาการด้านความมั่นคงอธิบายว่า การเพิ่มขึ้นของงบประมาณมีความเป็นเหตุเป็นผลทั้งเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคและการปลดประจำการของอาวุธ
กระทรวงกลาโหมยังมีแผนจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อีกหลายประเภท เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินฝึกและโจมตี ก็อยู่ในแผนที่เตียมจะจัดซื้อ แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือแผนจะซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ด้วยวงเงิน 36,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งงบประมาณศึกษาความเป็นไปได้แล้วกว่า 200 ล้านบาท