วันนี้ (1 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ผู้ชนะประมูล 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ชนะประมูล เมื่อเดือนธันวาคม 2559 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามเงื่อนไขการประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค.มีมติรับทราบผลการศึกษา และสรุปตัวเลขค่าเสียหาย กรณี บริษัท แจส โมบายฯ ทิ้งใบอนุญาตประมูล 4จี ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะประมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2558 โดยคณะกรรมการได้สรุปตัวเลขค่าเสียหายรวม 199.423 ล้านบาท โดยจำนวนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการริบเงินประกันที่บริษัท แจส โมบายฯ นำมาวางไว้ก่อนการประมูล จำนวน 644 ล้านบาท
สำหรับการให้บริษัท แจส โมบายฯ ชดใช้ค่าเสียหายครั้งนี้ คำนวณจากค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นครั้งที่บริษัท แจส โมบายฯ เข้าร่วมประมูลด้วย ร่วมกับอีก 3 บริษัท ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟเอช จำนวน 20.4 ล้านบาท จากงบประมาณที่ใช้จัดประมูลครั้งนั้น 80.9 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าดอกเบี้ย จากการผิดชำระหนี้ หลังจากชนะประมูลรวมอีกประมาณ 178 ล้านบาท
ส่วนประเด็นการพิจารณาเกี่ยวกับการถือครองใบอนุญาตโทรคมนาคม และใบอนุญาตในกิจการโทรทัศน์ วันนี้คณะกรรมการ กทค.พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกันกับกรณีการถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่องโมโน แต่เนื่องจากเป็นคนละนิติบุคคลกัน การทิ้งใบอนุญาต 4จี จึงไม่มีผล
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะทำหนังสือแจ้งให้บริษัท แจส โมบายฯ เข้ามารับหนังสือ โดยกำหนดระยะเวลาที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ หากบริษัทไม่เห็นด้วยสามารถยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 16 มิถุนายนได้เช่นกัน
หลังจากมีมติดังกล่าวออกมา ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามไปที่ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แจส โมบายฯ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
สำหรับบริษัท แจส โมบายฯ ได้สร้างความฮือฮาต่อการประมูล 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคม รายที่ 4 ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่การประมูลใบอนุญาต เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยเข้าร่วมประมูล ซึ่งต่างเคยมีประสบการณ์มาแล้วตั้งแต่สมัยการประมูล 3จี
การเคาะราคาของบริษัท แจส โมบายฯ ทำให้ 3 ค่ายมือถือ ดีแทค, เอไอเอส และทรูฯ ต่างต้องแข่งกันสู้ราคา จากราคาตั้งต้นที่ 12,864 ล้านบาท นำไปสู่การเคาะราคาจบและพุ่งขึ้นไปแตะที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่บริษัท แจส โมบายฯ ชนะประมูลในชุดคลื่นความถี่แรก ส่วนทรูมูฟเอช เป็นอีกรายที่ชนะประมูลในชุดคลื่นความถี่ที่ 2 ซึ่งทำให้ราคารวมของใบอนุญาตที่ประมูลทั้ง 2 ใบ มีราคากว่า 151,000 ล้านบาท และทำให้การแข่งขันครั้งนั้น ถูกยกว่าเป็นการแข่งขันประมูลในระบบปิดที่ยืดเยื้ดยาวนานที่สุดในโลก ต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน รวม 5 วัน 4 คืน
ต่อมา บริษัท แจส โมบายฯ ไม่สามารถชำระค่าประมูลงวดแรก ได้ทันระยะเวลาที่ กสทช.กำหนด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 และไม่ชี้แจงเหตุผลกับทาง กสทช. ส่งผลให้หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะกรรมการ กสทช. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความเสียหายจากกรณีที่บริษัท แจส โมบายฯ ทิ้งใบอนุญาต และนำไปสู่การเชิญผู้บริหารบริษัท แจส โมบายฯ มาสอบ พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก เช่น อัยการสูงสุด และกระทรวงการคลัง มาร่วมเป็นคณะกรรมการสอบ และได้สรุปผลสอบความเสีย พร้อมส่งเรื่องให้ บอร์ด กทค.พิจารณาวันนี้