วันนี้ (3 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากต้องใช้อุปกรณ์ที่จับถนัดมือแล้ว ยังต้องใช้แรงที่พอเหมาะด้วยถึงจะบดจนได้แป้งที่ละเอียด ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญการทำขนมไทยโบราณ “ขนมขี้หนู” ที่เชื่อว่าหลายคนอาจเคยรู้จักและได้ลิ้มรสกันมาบ้าง แต่ทุกวันนี้หากินยาก และหาเจ้าอร่อยกินนั้นยากกว่า เพราะขนมขี้หนูนั้นอาศัยความพิถีพิถัน ใช้เวลานาน และใส่ใจทุกลายละเอียด ตั้งแต่เลือกข้าวมาทำแป้ง
เคล็ดลับสำคัญวิธีทำแป้งขนมขี้หนูแบบโบราณ ที่ให้เนื้อสัมผัสละเอียดเคี้ยวไม่หยาบคอ รวินันท แดนศิลป์ ผู้สืบทอดจากครอบครัว บอกว่า ต้องใช้แป้งข้าวเจ้าที่โม่ขึ้นเองจากข้าวสาร แล้วนำมาบดด้วยขวดน้ำที่จับถนัดมือ จากนั้นร่อนจนได้แป้งเนื้อละเอียดจึงนำไปนึ่ง 3-4 ชั่วโมงซึ่งแม้จะใช้เวลานานหนึ่งวันเต็ม หากรสสัมผัสของเนื้อแป้งที่ละลายในปากก็คุ้มค่าคุ้มเวลา
อีกขั้นตอนสำคัญที่ไม่ยาก หากต้องใส่ใจคือน้ำเชื่อมลอยดอกมะลิผสมสีเขียวของใบเตย กับสีชมพูจากสีผสมอาหาร ที่ต้องคลุกให้เข้าเนื้อแป้งที่นึ่งสุก แล้วอบควันเทียนกับดอกกระดังงาให้ได้กลิ่นหอมอันเป็นเสน่ห์ของขนมไทย
เรียกได้ว่าขั้นตอนไม่มากแต่ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันความพิถีพิถันในการใช้วัตถุดิบทำให้ขนมขี้หนูไร้ผู้สืบทอด กลายเป็ขนมไทยอีกชนิดที่หากินยาก
เสน่ห์ขนมไทยไม่เพียงอยู่ที่รสชาติหอมหวาน การเลือกใช้วัตถุดิบมีคุณภาพที่หาง่ายในพื้นที่ยังเป็นหัวใจสำคัญ อย่างมะพร้าวโรยหน้าที่ต้องเลือกเและขูดเอง เพื่อให้ได้เส้นมะพร้าวที่นุ่มกรอบกำลังดี ความโชคดียังอยู่ที่ราชบุรีเป็นแหล่งสวนมะพร้าว ทำให้มีของดีเป็นวัตถุดิบไม่ขาดมือ ยังมี ดอกมะลิ ใบเตย และกระดังงาที่ปลูกได้เองทำให้ต้นทุนไม่สูงนัก ราคาขนมขี้หนูจึงไม่ผันผวนตามค่าครองชีพ
เพื่อไม่ให้ขนมขี้หนูเหลือแต่ชื่อ กว่า 70 ปีแล้ว ที่ครอบครัวแดนศิลป์สืบทอดตำรับขนมไทยโบราณ โดยรักษารสชาติและกรรมวิธีดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด จนกลายเป็นตำรับขนมไทยคู่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มรสอร่อย ขณะเดียวกันคนรุ่นเก่าได้หวนหารสหวานหอมครั้งอดีต
เคล็ดลับอีกประการหากจะกินขนมขี้หนูให้อร่อยต้องรู้วิธีบีบหรือขยำให้น้ำมันซึมออกจากเนื้อมะพร้าว จะทำให้เนื้อแป้งเกาะกันหยิบรับประทานง่ายและอร่อยขึ้น