ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อาลัย "ผู้ใหญ่วิบูลย์" ผู้บุกเบิกวิถีวนเกษตร

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 59
15:42
5,102
Logo Thai PBS
อาลัย "ผู้ใหญ่วิบูลย์" ผู้บุกเบิกวิถีวนเกษตร
ภาพคนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกของกินอย่างง่ายบนที่ดินขนาดเล็กๆ หรือในสวนหลังบ้าน ที่ถูกปิดป้ายว่าเป็น "สโลว์ไลฟ์" อาจเป็นการแปลงรูปของเกษตรพึ่งตนเองในยุค 2559 วิถีเกษตรปลูกผักอินทรีย์ ปลูกเพื่อกิน เป็นอิสระจากการต้อง "ซื้อ" ปลดโซ่ตรวนจากระบบตลาด

ผู้บุกเบิกการวิถีการทำเกษตรพึ่งตนเองรูปแบบนี้มาตั้งแต่กว่า 30 ปีก่อน คือ วิบูลย์ เข็มเฉลิม หรือที่หลายคนเรียกว่า "ผู้ใหญ่วิบูลย์"

ผู้ใหญ่วิบูลย์เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลพุทธโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.2559) ด้วยอายุ 79 ปี

"วิบูลย์ เข็มเฉลิม" ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปี 2552 เขาเป็นผู้บุกเบิกวิถีเกษตรพึ่งตนเอง การปลูกเพื่อการบริโภค แนวคิดนี้ก่อผลเป็นรูปธรรมผ่าน "วนเกษตร" ป่าเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ที่ตั้งอยู่ใน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักเรียนนักศึกษา จากทั่วประเทศที่สนใจวิถีเกษตรพึ่งตนเอง

ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้ผ่านการทำเกษตรเชิงพาณิชย์และเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ว่ายวนอยู่ในวงเวียนของความยากจน ปัญหาหนี้สิน ราคาพืชผลตกต่ำ อย่างเช่นเกษตรกรไทยที่เป็นมาทุกยุคสมัย

"เรามีที่ดินล้นเกินเมื่อเทียบกับจำนวนคน แต่เป็นที่น่าแปลก คนที่ยังมีที่ดินมากกลับมีอาหารน้อย พูดจากใกล้ตัวที่สุดคือตัวผมเอง ครั้งหนึ่งผมมีที่ดินอยู่ 200 กว่าไร่ แต่ผมกินข้าววันหนึ่งไม่ครบสามมื้อ...ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปไม่ทำให้เราได้อาหาร ไม่ทำให้เราได้ชีวิตที่ดีขึ้น" ผู้ใหญ่วิบูลย์กล่าวในปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ครั้งที่ 5 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2538

ผู้ใหญ่วิบูลย์ อาจเป็นเกษตรกรเพียงไม่กี่คนที่หลุดออกจากวงจรเช่นนั้น

"ทั้งที่ไม่รู้ว่าขายไปแล้ว ตัวเองจะกินอะไร รู้แต่ว่าขอให้ได้ขาย เพราะธุรกิจ ไม่ได้มองเรื่องชีวิต" ผู้ใหญ่วิบูลย์กล่าว

เมื่อปี 2521-2522 ผู้ใหญ่วิบูลย์เคยร่วมเคลื่อนไหวประท้วงราคาข้าวและราคาผลผลิตต่อรัฐบาลในยุคนั้น จนในปี 2525 เมื่อเห็นแล้วว่าวิถีการผลิตเพื่อขายอย่างเดียวแล้วล้มเหลวเขาจึงค่อยๆ หันกลับไปทำการเกษตรเพื่อยังชีพ เรียกได้ว่าเกษตรพึ่งตนเองไม่ได้เกิดจากปรัชญา อุดมการณ์ หากเป็นเพราะสถานการณ์บังคับ

"สุกงอมเหมือนลูกไม้ สุกงอมแล้วมันก็ร่วง" ผู้ใหญ่วิบูลย์บรรยยายวงจรชีวิตเกษตรกรในช่วงนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะหันหลังให้กับการเกษตรที่ทำเป็นธุรกิจ แต่ผู้ใหญ่วิบูลย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าตลาด เขาเคยบอกว่าต้องกลับมามองเรื่องเกษตร ในความหมายของเกษตรที่หมายถึงการดำรงชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องกับดิน การใช้ที่ดิน แต่ไม่ใช่การตลาดที่ต้องไปทำธุรกิจแข่งขัน ผลผลิตที่มากเกินความจำเป็นต่อการกิน การใช้ ก็นำไปขาย เขายกตัวอย่างความล้มเหลวของชาวนาที่ขายข้าวทั้งหมด แล้วเอาเงินไปซื้อข้าวกิน

"การทำธุรกิจต้องมองเรื่องชีวิตด้วย มองเรื่องค้าขายในส่วนที่เราจำเป็นต้องขาย เราก็ขายด้วย แต่ถ้ามองเรื่องค้าขายอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร หรือจะเอาแต่เรื่องชีวิต ไม่เอาสตางค์เลยก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน" เขาเขียนไว้ในบทความ "เล่าเรื่องราวชีวิตสู่กันฟัง" เมื่อปี 2554

ในบทความชิ้นเดียวกันนี้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ยังได้พูดถึงรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพคนให้มากกว่าที่จะเร่งเอาทุนเอาเงินไปให้คน

"จะเร่งอย่างไรให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต ให้เขามีความสามารถจัดการผลผลิต มีการจัดการชีวิตเขาได้มากกว่านี้ ไม่ใช่นำเงินไปให้อย่างเดียว ผมอยากเห็นรัฐบาลเปลี่ยนวิธีจากการใช้เงินมาสู่วิธีที่ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ และใช้ความรู้ในการจัดการปัญหา ให้คนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองมากขึ้นกว่านี้"

ผู้ใหญ่วิบูลย์เขียนไว้ว่าสิ่งชูใจให้เขาเบิกบาน แม้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ก็ดีตรงที่ไม่ได้เจอความผิดหวังตลอด

"พอเราทำแล้วได้รับความร่วมมือก็รู้สึกดีใจ อิ่มใจ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือก็อาจท้อบ้าง แต่ผมไม่ได้คาดหวังอะไรไว้สูง เพราะถ้าเขาไม่ทำก็ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ไม่ได้ เพียงแต่เราอยากเห็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย"

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เคยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกรรมาธิการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อปี 2538 เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปี 2539-2543 และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี 2549 ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า นายวิบูลย์สามารถผลักดันแนวคิดของวนเกษตรเข้าสู่นโยบายของรัฐบาลได้ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้

แม้ว่าผู้ใหญ่วิบูลย์จะจากไป แต่แน่นอนว่าวิถีวนเกษตรที่เขาลงมือทำและถ่ายทอดให้ผู้คนมากมายตลอดระยะเวลาหลายสิบปียังคงอยู่ต่อไป

นคร ลิมปคุปตถาวร หรือที่รู้จักกันว่า "เจ้าชายผัก" ผู้ริเริ่มวิถีการปลูกผักในเมือง เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่เดินตามวิถีของผู้ใหญ่วิบูลย์ เขาเขียนข้อความระลึกถึงการจากไปของผู้ใหญ่วิบูลย์ว่า

"ผมได้เรียนรู้แนวคิดแนวทางของการพึ่งตนเอง ที่เราต่างพูดกันติดปากว่า 'กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน' หรือ หลักการใช้ชีวิตและการทำงาน อย่าง 'มีกิน มีใช้ มีหลักประกัน' ก็ล้วนมาจากท่านทั้งสิ้น"

ญาติของผู้ใหญ่วิบูลย์ตั้งสวดพระอภิธรรมศพ 9 คืน ที่วนเกษตรบ้านห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันลูกชายของเขา ครรชิต เข็มเฉลิม กำลังสานต่อสวนวนเกษตรใน จ.ฉะเชิงเทรา

 

ชมคลิปรายการ ภัตตาคารบ้านทุ่ง ตอน วนเกษตร บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2558

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง