ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มหิดลนำร่องปล่อยยุงลายเป็นหมันสู่ธรรมชาติที่ฉะเชิงเทรา หวังลดไข้เลือดออก

สังคม
15 มิ.ย. 59
21:03
448
Logo Thai PBS
มหิดลนำร่องปล่อยยุงลายเป็นหมันสู่ธรรมชาติที่ฉะเชิงเทรา หวังลดไข้เลือดออก
มหาวิทยาลัยมหิดลปล่อยยุงลายที่ทำหมันออกสู่ธรรมชาตินำร่อง จ.ฉะเชิงเทรา หวังลดจำนวนพาหะนำโรคไข้เลือดออก-ชิกุนคุนยา

วันนี้ ( 15 มิ.ย.2559 ) ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยมหิดลปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่เป็นหมันกว่า 10,000 ตัวออกสู่ธรรมชาติ นำร่องในพื้นที่หมู่ 11 บ้านหนองสทิต ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่แห่งแรกของโลก หวังลดจำนวนพาหะนำโรคไข้เลือดออก

สำหรับยุงลายบ้านตัวผู้ที่เป็นหมัน ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยและพัฒนาขึ้น ด้วยวิธีการทำหมันยุง 2 ขั้นตอน คือ ฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมสกุลโวบาเกีย สวนเข้าไปในตัวยุงเพื่อทำให้เป็นหมัน และการฉายรังสีปริมาณอ่อนเพื่อให้เป็นหมัน

ทั้งนี้ ยุงตัวผู้ที่เป็นหมันจะปล่อยไปยังบ้านเรือนในพื้นที่นำร่อง หลังละประมาณ 100 ตัว เพื่อไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมีย จากนั้นจะทำให้ไข่ฝ่อไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ ช่วยลดยุงลายในธรรมชาติ และช่วยลดพาหะนำโรคไข้เลือดออก โรคชิกุนคุนยา โรคไข้ซิกาและไข้เหลือง

คณะวิจัย ยืนยันว่าการทำหมันยุงวิธีนี้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ นอกจากนี้ยุงตัวผู้นั้นจะไม่กินเลือดจึงไม่เป็นอันตราย และตายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้จะประเมินผลทุกๆ 3 เดือน หากประสบความสำเร็จจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับผู้แทนจาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรม ในการป้องกับโรคไข้เลือดออกของแต่ละประเทศ โดยขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยแล้ว 18,337 คน เสียชีวิต 16 คน

ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้ 3 มาตรการ คือเก็บบ้านให้โล่ง เก็บเศษภาชนะไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ยุงและเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง