วันนี้ ( 18 มิ.ย.2559 ) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยรังสีวินิจฉัยก้าวหน้า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์สำรวจความเคลื่อนไหวของนักมวยเด็กกลุ่มตัวอย่างที่เคยเข้ารับการตรวจสมองในค่ายมวย ช.เรืองรัมย์ เมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยนักมวย 6 คนจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งหมด 241 คนที่ได้รับการตรวจ MRI ไปแล้ว
สำหรับผลวิจัยความเสียหายของสมองที่พบก่อนหน้านี้นำไปสู่ความพยายามในการยกร่าง พ.ร.บส่งเสริมความปลอดภัยในการกีฬาและนันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชน ในงานเสวนาหัวข้อ "การบาดเจ็บของสมองในกลุ่มนักมวยเด็ก" โดยศูนย์วิจัยรังสีวินิจฉัยก้าวหน้า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า กีฬามวยส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองของเด็กตามระยะเวลาการชกมวยที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยัวยังมีข้อถกเถียงจากคนในวงการมวยที่ยังมีข้อคิดเห็นแตกต่างและเกรงว่าผลวิจัยจะกระทบต่อการเผยแพร่ศิลปะมวยไทย
นายเดช ใจกล้า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกันเพื่อหาทางออก แม้พ.ร.บ.กีฬามวยอาชีพ 2542 จะให้การคุ้มครองการชกมวยของเยาวชนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ป้องกัน การกำหนดจำนวนยก รวมถึงเวลาในการชกที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่วนเรื่องข้อเสนอที่ให้กำหนดอายุของนักมวยอาชีพต้องไม่น้อยกว่า 18 ปี มองว่าอาจจะกระทบต่อความสำเร็จของนักมวยที่จะก้าวขึ้นมาระดับโลกซึ่งต้องเรียนรู้จากวัยเด็ก
ส่วนการห้ามเด็กขึ้นชกในขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายและกติกาตาม พ.ร.บ.กีฬามวยอาชีพ แต่หากผลวิจัยมีผลกระทบกับเด็กก็ควรต้องนำเสนอให้ทุกกลุ่มในวงการมวยได้เข้าใจอย่างทั่วถึง คณะกรรมการกีฬามวยให้ความช่วยเหลือทั้งสวัสดิการและคุณภาพชีวิตนักมวยหลังการชก ขณะนี้มีนักมวยที่อยู่ในการดูแลกว่า 200 คน ซึ่งจะมีค่ายังชีพให้นักมวยตั้งแต่ 3,000-10,000 บาทต่อเดือน ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย