วันนี้ (19 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เส้นทางผ่านพื้นที่ย่านชุมชนใน อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ทั้งสองฟากฝั่งเต็มไปด้วยชาวบ้านและผู้ศรัทธา เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่เส้นทางนี้จะมีขบวน ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของเจ้านครเชียงใหม่ที่ได้รับการรื้อฟื้น
นอกจากแรงศรัทธาที่มีให้เห็นตลอดเส้นทาง อีกสีสันที่น่าตื่นตาในพิธี ก็คือขบวนต้อนรับพระธาตุ ที่เป็นการรวมตัวช่างฟ้อนจากหลายพื้นที่
ช่างฟ้อนกว่า 500 คน ประจำตามจุดต่างๆ รายเส้นทางอัญเชิญพระธาตุ มีจุดสำคัญที่วัดต้นเกว๋น เล่าขานในอดีตว่าเป็นจุดพักพระธาตุก่อนเข้าเวียงเชียงใหม่ ทำให้ชาวเมืองนอกเวียงได้สรงน้ำเป็นเวลาหนึ่งคืน
การรื้อฟื้นประเพณีครั้งนี้ยังคงรักษาเส้นทางเดิมไว้ ทำให้ แม่อุ๊ยจันทร์ สายคำวงศ์ ในวัย 95 ปี ได้มีโอกาสรับเสด็จพระธาตุเป็นครั้งแรก และร่วมฟ้อนล้านนาถวายเป็นพุทธบูชา ในค่ำคืนแห่งการสมโภชพระธาตุศรีจอมทอง
ขั้นตอนตามแบบโบราณ อย่างน้ำสรงพระธาตุที่ต้องมาจากตาน้ำดอยอ่างกา หรือดอยอินทนนท์ ผสมดอกคำฝอยแทนขมิ้นและส้มป่อย ที่มีความเป็นกรดส่งผลกระทบต่อพระธาตุ เป็นภูมิปัญญาเดิมที่ยังได้รับการรักษาในประเพณีที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่
งานบุญท้องถิ่นครั้งนี้เป็นงานใหญ่ที่ต้องมีการสืบค้นข้อมูล ต้องอาศัยความร่วมใจจากทุกภาคส่วน แสดงถึงความศรัทธาต่อพระธาตุคู่เมืองเชียงใหม่
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดี บอกว่า ในอดีตกาลพระธาตุส่วนมากจะอยู่ในกรุเจดีย์ แต่พระธาตุจอมทองสามารถอัญเชิญเสด็จมาได้ นอกจากนี้ พระธาตุจอมทองยังผูกพันกับเจ้าหลวงเชียงใหม่ เพราะเป็นวัดประจำของเจ้าหลวง ขณะที่การปฏิบัติต่อพระธาตุสำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือก็ถือว่าสำคัญ ขนบธรรมเนียมประเพณีหลากหลายก็เลยประมวลใน 720 ปี การอัญเชิญพระธาตุเข้าเวียงจึงเป็นความยิ่งใหญ่อีกวาระ
ด้าน เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านขนบธรรมเนียม อธิบายเพิ่มเติมว่า ในอดีตจอมทองก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ฉะนั้น จำเป็นต้องเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาให้คนในเมืองหลวง ให้กษัตริย์ของนครเชียงใหม่ ได้มีโอกาสสรงน้ำทุกปี แต่หลัง พ.ศ. 2476 เปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรยุบตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็ทำให้ประเพณีนี้ขาดไป พอมาฟื้นขึ้นก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ
ตำนานเล่าว่าพระธาตุศรีจอมทองหรือพระทักขิณโมลีธาตุ เป็นพระธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา ประดิษฐานในดินแดนล้านนามากว่า 2,500 ปี ก่อนถูกอัญเชิญมาที่ไว้ดอยจอมทอง เดิมมีการอัญเชิญพระธาตุเจ้ามายังเวียงเชียงใหม่ทุกปี ก่อนยกเลิกไปเมื่อสิ้นระบบเจ้าผู้ครองนคร การฟื้นคืนประเพณีนี้จึงเป็นเครื่องหมายถึงจิตวิญญาณคนเมืองที่ยังได้รับการสืบทอด