วันนี้ (24 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดวิด แคเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดินทางเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบท ที่ 2 ที่พระราชวังบัคกิงแฮม เพื่อรายงานผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการและกราบทูลให้ทรงทราบหลังการประกาศที่จะลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเปิดทางให้ผู้นำคนใหม่เป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองนำพาอนาคตของอังกฤษต่อจากนี้
ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศจับตามองตลาดการเงินและจะประสานงานกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งระบุว่า ธนาคารมีเงินทุนสำรองและมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในการเสริมสภาพคล่องทั้งเงินสกุลยูโรและเงินสกุลต่างชาติ โดยทางธนาคารจะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาและการเงินในตลาดยุโรปอย่างเต็มที่
การประกาศความพร้อมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติในอังกฤษส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเงินปอนด์ สเตอร์ลิง ที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 31 ปี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า
ด้านนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียู และเป็นผู้ที่ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้นำคนใหม่ของอังกฤษ ประกาศว่า การแยกตัวในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่อังกฤษจะมีอิสรภาพในการจัดการเศรษฐกิจและควบคุมชายแดนของตัวเองและอังกฤษยังไม่จำเป็นที่จะต้องรีบเร่งในการเจรจาเพื่อออกจากอียู
ส่วนนางนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำสกอตแลนด์ ประกาศว่า ขณะนี้สกอตแลนด์กำลังดำเนินการ เพื่อจัดการลงประชามติแยกตัวออกจากอังกฤษเป็นครั้งที่ 2 หลังจากประสบความล้มเหลวในการลงประชามติครั้งแรก เมื่อปี 2557
ขณะที่นางมาครี เลอ ปอง หัวหน้าพรรคเนชั่นแนล ฟรอนท์ ของฝรั่งเศส เรียกร้องให้มีการลงประชามติเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งระบุว่า ผลประชามติในอังกฤษสะท้อนให้เห็นถึงชัยชนะแห่งเสรีภาพ ดังนั้นฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ในอียู จะต้องจัดการลงประชามติเช่นเดียวกับอังกฤษ
ด้านนายโดนัลด์ ทรัมพ์ ว่าที่ตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศแสดงความยินดีต่อผลประชามติของอังกฤษ พร้อมทั้งระบุว่านี่ถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ที่แสดงว่าชาวอังกฤษต้องการอิสรภาพและต้องการประเทศกลับคืนมา
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศท่าทีของประเทศไทยต่อผลประชามติในอังกฤษ ว่า อังกฤษจะยังคงเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในยุโรปของไทยและไทยจะรักษาความสัมพันธ์กับอังกฤษไว้ต่อไป แม้อังกฤษจะไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้วก็ตาม เนื่องจากความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในภาครัฐบาล เอกชนและประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยว่า นายไบรอัน เดวิสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้โทรศัพท์หารือกับนายทรงพล สุขจันทร์ อธิบดีกรมยุโรปของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว รวมทั้งแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลอังกฤษในการดำเนินการตามผลการลงประชามติดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย จะหารือและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะมีขึ้นในมิติทางเศรษฐกิจต่อไป