วันนี้ (27 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนพรรคการเมือง และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ร่วมสะท้อนทัศนะต่อกลไกการตรวจสอบ-ถ่วงดุลรัฐบาล ตามข้อบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ผ่านเวทีเสวนา "ร่างรธน.กำกับรัฐบาลไว้อย่างไร" โดยต่างเห็นตรงกันในหลักการ ว่าไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววิเคราะห์ข้อบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติว่า เจตนาคือการสลายเสียงข้างมากของพรรคการเมือง ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และชี้ว่าการตรวจสอบรัฐบาลควรใช้กลไกกฎหมายปกติ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี และองค์กรอิสระไว้กว้างขวาง แต่กลับไม่สร้างความมั่นใจถึงความเป็นกลาง เที่ยงธรรม และขาดการถ่วงดุลอำนาจ
ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการที่ร่วมเสวนาทั้ง ศ.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ เห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาทางการเมือง ด้วยการลดอำนาจของเสียงข้างมากไปไว้ที่คนบางกลุ่ม ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง