วันนี้ (28 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่าตัวแทนนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อเยี่ยมนักศึกษา 7 คนที่ถูกจับกุมและคุมขังจากการทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.
โดยก่อนเข้าเยี่ยม ตัวแทนนักวิชาการได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีนักวิชาการ 292 คน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมลงชื่อ แถลงการณ์ระบุว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.2559 จะมีความชอบธรรมต้องอยู่ในบรรยากาศการรณรงค์ที่เสรี
"เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักศึกษาและกรรมการสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งได้จัดกิจกรรมในย่านนิคมอุตสาหกรรมบางพลีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจขัดขวางจับกุมและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ท้ายสุดนักศึกษา 7 คนได้ถูกศาลทหารปฏิเสธคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวและถูกคุมขัง ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเป็นการขัดขวางการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหมู่ประชาชนเพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม การรณรงค์ประชามติของนักศึกษาและประชาชนดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบ สันติ เปิดเผย มิได้ขัดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลใด แต่เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักในสิทธิของตนและได้รับข้อมูลรอบด้านเพื่อตัดสินใจกำหนดอนาคตของตน" แถลงการณ์ระบุ
"ยิ่งกว่านี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 61 ที่คุกคามการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน การอ้างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาจับกุมดำเนินคดีผู้ที่รณรงค์ประชามติจึงไม่มีความชอบธรรม"
"เราเห็นว่านักศึกษาทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นทางผู้มีอำนาจที่ใช้วิธีการเก็บกด ปิดกั้น ขัดขวาง ในที่สุดแล้วก็จะทำให้การลงประชามติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม" นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.กล่าว
นายอนุสรณ์ยังกล่าวถึงการทำประชามติครั้งนี้ด้วยว่า ในฐานะประชาชน นอกจากศึกษาร่างรัฐธรรมนูญและพูดคุยแลกเปลี่ยน ยังสามารถร่วมสนับสนุนให้กำลังใจกลุ่มที่ออกมาใช้สิทธิรณรงค์ประชามติ อย่างเสรี สงบ สันติ เพราะอาจเป็นการทำให้ผู้มีอำนาจรัฐอาจคิดไตร่ตรองมากขึ้น
"หากกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ว่าบวกหรือลบ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่มีความกระหายใครรู้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลหรือการตีความ ผมคิดว่าพลังประชาชนจะสำคัญในทำให้การออกเสียงประชามติครั้งนี้มีคุณภาพ โปร่งใส เป็นธรรม"
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการเข้าเยี่ยมนักศึกษา 7 คน ว่าขณะนี้ยังมีสภาพจิตใจยังเข้มแข็ง และยังยืนยันว่าจะไม่ประกันตัว เนื่องจากไม่ได้ทำผิด และไม่ยอมรับกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดี ขณะเดียวกันได้รับการเปิดเผยจากนักศึกษาที่ถูกคุมขังว่า ทางเรือนจำได้ใช้ให้ทำงานเช่นเดียวกับนักโทษอื่นๆ จึงต้องการเรียกร้องไปยังเรือนจำว่า นักศึกษาทั้ง 7 คน ไม่ได้กระทำความผิด ขณะนี้เป็นเพียงการฝากขังจึงต้องการให้ปฏิบัติกับนักศึกษาเยี่ยงพลเรือนไม่ใช่ในฐานะนักโทษ
"สิ่งที่นักศึกษาทำเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี พวกเขาไม่มีอาวุธ ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ เป็นการสู้ด้วยจิตใจจริงๆ สิ่งที่เขามีมีเพียงคำพูด และเอกสารจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง พวกเขายืนยันถึงสิทธิการแสดงออกตรงนี้แม้ว่าเป็นคนกลุ่มเล็ก ก็ตระหนักดีว่าพลังอำนาจของเขาในการไปสู้รบกับกองทัพทั้งกองทัพนั้นสู้ไม่ได้ แต่ก็เป็นเพราะว่าต้องการฝากถึงประชาชนทั่วไปว่า การต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมต้องอาศัยพลังของประชาชนจำนวนมากที่จะต้องยืนหยัดในหลักการที่จะต่อสู้อย่างสันติวิธี"
ภายในสัปดาห์นี้ คนส.จะเริ่มรวบรวมรายชื่อเครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศ เพื่อส่งไปยัง คสช.เรียกร้องปล่อยตัว นศ.อย่างไม่มีเงื่อนไขด้วย
7 นักศึกษาคดีรณรงค์ประชามติ
1. รังสิมันต์ โรม (โรม) อายุ 24 ปี
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย โฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่
2. กรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ) อายุ 24 ปี
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
3. นันทพงศ์ ปานมาศ (กุ๊ก) อายุ 24 ปี
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อดีตสมาชิกกลุ่มกล้าคิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว โฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่
4. สมสกุล ทองสุกใส (เคิร์ก) อายุ 20 ปี
นักศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาชิกชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม (ศ.ป.ส.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
5. อนันต์ โลเกตุ (บอย) อายุ 21 ปี
นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
6. ยุทธนา ดาศรี (เทค) อายุ 27 ปี
สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
7. ธีรยุทธ นาบนารำ (ต้อม) อายุ 27 ปี
สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตประธานชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(ข้อมูลจากเฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่)