วันนี้ ( 2 ก.ค.2559 ) นายเชวง ไทยยิ่ง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน สำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดเผยกับทีมข่าวกีฬาไทยพีบีเอสว่า วัตถุประสงค์หลักของการยกร่างเพื่อปรับปรุงกฎหมายสิทธิเด็ก ซึ่งหลายคนยังมีความเข้าใจผิด ซึ่งจริงๆแล้ว พ.ร.บ นี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกีฬามวยเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงกีฬาอื่นๆ ทุกชนิด เช่น เทควันโด ยูโด ฟุตบอล รวมถึงกีฬานันทนาการต่างๆ ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ แต่ที่เน้นกีฬามวยไทยเป็นพิเศษเพราะกีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่ปะทะกันโดยตรง มีความเสี่ยงสูง
ผอ.สถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน สำนักงานกฤษฎีกา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เน้นไปที่นักมวยเด็กเป็นหลัก แต่ไม่ได้ห้ามเด็กชกมวย เพียงต้องการให้มีกฏระเบียบที่ชัดเจนทั้งการแข่งขัน การฝึกซ้อม จำนวนยก รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันขณะนี้มีค่ายมวยหลายค่ายเริ่มปฏิบัติตามเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องกลับมาให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาข้อที่อาจจะขัดกับกฏหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ.กีฬามวย เพื่อให้การบังคับใช้มีมีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนในเรื่องของผลวิจัยที่ระบุว่า การส่วมเครื่องป้องกันก็อาจจะทำให้เด็กเกิดอันตรายได้ เรื่องนี้ยังต้องมีการร่วมกันทำการศึกษากันอีก เพื่อประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมให้เยาวชนเล่นกีฬาอย่างปลอดภัย
ขณะที่ผลวิจัยด้านสมองของนักมวยเด็กกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงถึงความปลอดภัย นาย สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมมวยอาชีพแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าก่อนจะมี พ.ร.บ.มวยฉบับปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงเรื่องการห้ามมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีชกมาแล้ว แต่ พ.ร.บ.ไม่ได้ระบุไว้ เนื่องจากนักมวยทุกคนล้วนแต่มีเหตุผลที่ต้องชกมวยเพื่อหาเลี้ยงชีพ นอกจากนั้นมองว่าอาวุธมวยไทยทำให้สมองได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมวยสากล
ปัจจุบันมีการแข่งขันมวยไทยในรูบแบบต่างๆ มากมายและเงินรางวัลเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักมวยเยาวชนให้อยากชกมวยเพื่อมีชื่อเสียงเงินทอง ส่วนผลวิจัยชี้ว่า นักมวยเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกชกศีรษะโดยตรง จะยิ่งส่งผลต่อสมองและส่งผลต่อระดับเชาวน์ปัญญาที่ลดลงตามระยะเวลาการชกมวย