ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธีรภัทร เจริญสุข เขียน : เกิดอะไรขึ้นในราชวงศ์ญี่ปุ่น

ต่างประเทศ
14 ก.ค. 59
20:01
3,090
Logo Thai PBS
ธีรภัทร เจริญสุข เขียน : เกิดอะไรขึ้นในราชวงศ์ญี่ปุ่น

วันนี้ (14 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า ในเฟซบุ๊ก Theerapat Charoensuk ของ ธีรภัทร เจริญสุข นักเขียน ซึ่งพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ระบุถึงกรณีสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งญี่ปุ่น มีพระประสงค์จะสละราชบัลลังค์ ว่า

สำนักพระราชวังอิมพีเรียล องค์กรเหนือพระราชวงศ์ญี่ปุ่น ความสับสนในข่าวสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่นมีพระประสงค์จะสละราชบัลลังค์ มีการแก้ข่าวกลับไปมาในสองวันนี้ อาจมองได้ว่าเป็นความผิดพลาดของสำนักข่าวก็ได้ แต่ผู้ที่ติดตามข่าวในพระราชสำนักญี่ปุ่นมายาวนาน คงพอคาดเดาได้ถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด

สำนักพระราชวังอิมพีเรียล (คุไนโช Kunai-cho) เป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่สังกัดกระทรวงใด ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีพันธะต่อหน่วยงานรัฐอื่น รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงเท่านั้น ถือกำเนิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ 1947 ซึ่งสหรัฐอเมริกาตราขึ้นให้ญี่ปุ่นยุคแพ้สงคราม เพื่อควบคุมสถาบันพระจักรพรรดิ ก่อนที่จะแปรรูปเป็นหน่วยงานในสังกัดรัฐบาลในปี 1949

สำนักพระราชวังอิมพีเรียล มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพระราชวังโตเกียว ประกอบด้วยหน่วยงานสำคัญ 7 สำนัก ได้แก่
- สำนักราชเลขาธิการ
- คณะสมุหพระราชมณเฑียร
- สำนักพระราชวังแห่งองค์มกุฏราชกุมาร
- สำนักจดหมายเหตุและสุสานหลวง
- สำนักโยธาธิการ
- สำนักพระราชวังเกียวโต

โดยราชเลขาธิการคนปัจจุบัน คือ ท่านคาซาโอกะ โนริยูกิ และสมุหพระราชมณเฑียรคนปัจจุบัน คือ ท่านคาวาชิมะ ยูทากะ

สำนักพระราชวังอิมพีเรียล มีชื่อเสียงด้านความเข้มงวดและกวดขันควบคุมพระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตรของสมาชิกในราชวงศ์เบญจมาศ รวมถึงสร้างแรงกดดันต่อชีวิตส่วนพระองค์ของเชื้อพระวงศ์แต่ละพระองค์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการพยายามกีดกันเชื้อพระวงศ์ ให้อยู่ห่างจากชีวิตของสามัญชน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า เป็นความประสงค์ที่จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวงศ์ ซึ่งถือกันว่าสืบเชื้อสายมาจากมหาสุริยเทวีอามาเทราสึ ประการหนึ่ง และป้องกันมิให้พระราชวงศ์ได้รับความนิยมจากประชาชนมากจนสั่นคลอนสถาบันการเมืองอื่น อีกประการหนึ่ง

ความเข้มงวดของสำนักพระราชวังขึ้นชื่อลือชาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง ในกรณีการอภิเษกสมรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามกุฏราชกุมารนารุฮิโตะ กับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ (ต่อมาคือเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาในมกุฏราชกุมาร) ที่สำนักพระราชวัง เข้าไปสืบประวัติสอบสวนเพื่อนฝูงของเจ้าหญิงมาซาโกะ จนล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว บังคับให้เจ้าหญิงมาซาโกะ ต้องเข้าหลักสูตรมารยาท ยาวนานถึงสองปีก่อนอภิเษก และเมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ก็ต้องสละชีวิตส่วนพระองค์โดยสิ้นเชิง

เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าหญิงมาซาโกะมิได้ให้ประสูติกาลพระรัชทายาท ก็มีกระแสกดดันให้เจ้าชายมกุฏราชกุมารหาพระชายาใหม่ หรือหาพระสนม จนเจ้าหญิงมาซาโกะประชวรด้วยความเครียด แม้มีประสูติกาลเจ้าหญิงไอโกะ ก็ยังไม่ทรงพ้นจากพระอาการเครียด จนกระทั่งพระชายาในเจ้าชายอากิชิโนประสูติพระโอรส เจ้าชายฮิซาฮิโตะเป็นรัชทายาทลำดับที่สาม พระภาระในการให้กำเนิดรัชทายาทจึงผ่อนเพลาลงและเจ้าหญิงมาซาโกะก็เริ่มหายประชวร ในครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามกุฏราชกุมารนารุฮิโตได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ท่านโทชิโอะ ยูอาสะ ราชเลขาธิการสมัยนั้นอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ เจ้าหญิงในพระราชวงศ์เบญจมาศหลายพระองค์ ก็ได้เปิดเผยถึงความกดดันในการดำรงพระชนม์ชีพในพระฐานันดร จากสำนักพระราชวัง ที่มิอาจแต่งกายได้ตามใจชอบ มิอาจไปเที่ยวหรือคบเพื่อนฝูงโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักพระราชวังก่อน จนกระทั่งกราบบังคมทูลลาจากฐานันดรศักดิ์ออกมาสมรสเป็นสามัญชน

การเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ หลังมหาธรณีพิบัติภัยโทโฮคุในปี 2012 ถือว่าได้ทำลายประเพณีดั้งเดิมของสำนักพระราชวังอย่างมาก หลังจากนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ก็ได้ทรงใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่แตกต่างจากแบบแผนของสำนักพระราชวังหลายครั้ง โดยเฉพาะการกล่าวขออภัยและแสดงความเสียใจต่อชาวฟิลิปปินส์ ที่ถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นรุกราน เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และเปิดอนุสรณ์สถานในปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งทางรัฐบาล นักการเมืองฝ่ายขวา และสำนักพระราชวังไม่ค่อยจะพอใจนักต่อพระราชดำรัสของพระองค์ ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายและประชาชนในประเทศที่เคยถูกรุกราน รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ประมุขของประเทศที่รุกรานกล่าวแสดงความเสียพระทัยด้วยน้ำพระทัยแท้จริง

และครั้งนี้ก็มิใช่ครั้งแรกที่มีข่าวสมเด็จพระจักรพรรดิพระประสงค์จะทรงสละราชสมบัติ เมื่อปี 2014 ที่พระองค์ทรงเข้ารับการรักษาพระวรกายและผ่าตัดก็เคยมีข่าวลือเรื่องพระราชปรารภการสละราชสมบัติมาก่อนแล้ว แต่สำนักพระราชวังก็ปฏิเสธเช่นเดียวกัน เนื่องจากทั้งกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญมิได้เปิดช่องให้กระทำได้

ในครั้งนี้ สำนักพระราชวังก็ได้ออกมาปฏิเสธอีกคำรบหนึ่ง แต่เหตุการณ์สละราชสมบัติแห่งยุคเฮเซนี้จะเป็นเช่นไรต่อไปก็น่าติดตาม

(ภาพถ่ายอาคารสำนักพระราชวังอิมพีเรียล ภายในพระราชวังหลวงโตเกียว ธีรภัทร ถ่ายเมื่อเดือนกันยายน 2012)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง