วันนี้ (18 ก.ค. 2559) น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้บรรจุ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ เป็นกฏหมายที่ต้องพิจารณาเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกองทุนทั้งการบริหารจัดการให้กู้ยืมและติดตามหนี้ โดยข้อบัญญัติในกฎหมายใหม่ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจ้างนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน
นอกจากนี้ อาจเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมกรณีค้างชำระเป็นเวลานาน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืม เพื่อจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระหรือถูกฟ้องดำเนินคดี ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ปี 2560
น.ส.ฑิตติมา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปี 2559 ผู้กู้ยืม กยศ.ดำเนินการชำระหนี้แล้ว 16,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 39 ส่วนผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ.มาชำระหนี้แล้ว 388 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 27
“สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่สามารถไปชำระหนี้ได้ทันวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ยังสามารถติดต่อขอชำระหนี้ได้แต่จะต้องเสียเบี้ยปรับตามจำนวนวันที่ผิดนัด แต่หากผู้กู้ยืมชำระหนี้แบบปิดบัญชีภายใน 30 ก.ย. 2559 ทางกองทุนจะยกเว้นเบี้ยปรับให้ทั้งหมด ในส่วนของผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้เกิน 4 ปี จำนวน 5 งวด ในกลุ่มนี้อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้” ผจก.กยศ. ระบุ