วันนี้ (20 ก.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) จะกดดันให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ถอดนักกีฬารัสเซียออกจากการแข่งขันโอลิมปิกทั้งหมด แต่ไอโอซียังไม่ตัดสินใจโดยจะพิจารณาหลังการตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการศาลกีฬาโลกที่จะมีคำตัดสินในวันพรุ่งนี้ กรณีนักกรีฑารัสเซีย 68 คนยื่นฟ้องสหพันธ์กรีฑานานาชาติ หลังมีคำสั่งแบนห้ามร่วมแข่งโอลิมปิก
ไอโอซีแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ว่าได้แต่งตั้งคณะทำงานพิเศษทำหน้าที่ศึกษาเงื่อนไขด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของวาด้า โดยจะพิจารณาข้อกฎหมายในการห้ามนักกีฬาจากรัสเซียเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของนักกีฬารัสเซียที่บริสุทธิ์หรือไม่
การแบนรัสเซียทั้งประเทศออกจากโอลิมปิกไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะยังต้องอาศัยเครื่องมือจากสหพันธ์กีฬาแต่ละชนิดที่ต้องเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เช่นดียวกับสหพันธ์กรีฑานานาชาติ นอกจากนั้นการแบนนักกีฬาทั้งหมดอาจเกิดความไม่ชอบธรรมต่อนักกีฬาที่ไม่ได้โด๊ป ซึ่งอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องยืดเยื้อตามมา
สำหรับรายงานของวาด้าโดยทีมงานของนายริชาร์ด แมคลาเรน นักกฎหมายชาวแคนาเดี้ยนที่วิจัยเรื่องการใช้สารต้องห้ามของนักกีฬารัสเซียพบว่า 5 อันดับชนิดกีฬาที่มีการโด๊ปสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011-2015 คือกรีฑา 139 คน, ยกน้ำหนัก 117 คน, กีฬาที่ไม่บรรจุในโอลิมปิก 37 คน, กีฬาในพาราลิมปิก 35 คน, มวยปล้ำ 28 คน จากทั้งหมดที่พบ 580 คน
สำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่ามาตรการไอโอซีที่คาดว่าจะใช้กดดันรัสเซียมี 5 แนวทาง ได้แก่ ห้ามรัสเซียจัดแข่งขันกีฬา หรือประชุมด้านการกีฬาในประเทศรัสเซีย, ลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัสเซีย ที่ปรากฏในรายงาน ดร. ริชาร์ด แม็คลาเรน, แบนนายวิตาลี มุตโก้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาของรัสเซียในโอลิมปิกเกมส์ที่บราซิล, เปิดเผยรายชื่อบุคคลที่กระทำผิด และให้สหพันธ์กีฬาตรวจสอบการละเมิดกฏสารกระตุ้นของนักกีฬารัสเซีย
ปฏิกิริยาจากสื่อมวลชนในรัสเซียไม่พอใจต่อการกดดันให้ถอดนักกีฬาจากโอลิมปิกทั้งหมดอย่างมาก ซึ่งมองว่าข้อเสนอของวาด้าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกดดันรัสเซียทางการเมือง