ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กัมบัตเตะเนะ" เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด

Logo Thai PBS
"กัมบัตเตะเนะ" เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด
ยามที่รู้สึกท้อถอยชาวญี่ปุ่นจะมีคำพูดติดปากว่า "กัมบัตเตะเนะ" หมายความว่า "พยายามเข้านะ" เพื่อเรียกพลังใจ เป็นคติการทำงานของชาวอาทิตย์อุทัย คอลัมนิสต์ "พิชชารัศมิ์ มารุมุระ" นำมาถ่ายทอดผ่านเส้นทางอาชีพของคนไทย ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายวงการของญี่ปุ่น

"ได้มีโอกาสทำงานกับฟุคุยามะ มาซาฮารุ ศิลปปินเบอร์หนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่ฟุคุยามะจะมา การเตรียมงานของทีมงานค่อนข้างจะเข้มข้นสูง เรียกได้ว่า ในห้องจะต้องวางอะไร ตรงไหน ต้องซื้ออะไรมาฟุคุยามะชอบอะไร เป็นสปอนเซอร์ให้แบรนด์อะไร ห้ามเอาแบรนด์ตรงข้ามมาไว้ในห้อง การเตรียมการค่อนข้างมืออาชีพมากๆ"

คลุกคลีกับชาวญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจสอนภาษาและเป็นล่ามให้กับศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ ทำให้ชื่อของณัฐพงษ์ บุญพร หรือนัตโตะ เป็นที่รู้จักของคนญี่ปุ่นในไทย ได้รับความไว้วางใจจนได้สูตรราเมนจากเชฟดัง เติมเต็มอีกฝันมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของคนไทยที่ได้เรียนรู้การทำงานกับชาวญี่ปุ่น ซึ่งวิรุณรัช พจน์เสถียรกุล เจ้าของนามปากกา "พิชชารัศมิ์" แห่งเว็บไซต์มารุมุระ รวบรวมไว้ในหนังสือ "กัมบัตเตะเนะ-เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด" รวมเรื่องราวคนตามฝันอีกหลายคน เช่น บก.เรโกะ ผู้คว้าโอกาสจากนักเรียนแลกเปลี่ยนสู่กูรูแฟชั่นญี่ปุ่น สัญญา ตุระจิตร์ กับชีวิตที่พลิกผันจากเด็กล้างจานสู่เชพอาหารญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นเส้นทางชีวิตที่ต้องอาศัยพลังใจ เช่นเดียวกับคำพูดเตือนใจของชาวญี่ปุ่น "กัมบัตเตะเนะ" ที่หมายถึงความพยายาม

 

 

"ทั้ง 15 คน มีความคล้ายกันในบางอย่างมากๆ ข้อแรกเลย คือ มีแรงบันดาลใจที่มากกว่าชื่อเสียงเงินทอง เพราะฉะนั้นพวกเขาจะทำงานด้วยความสุข คนเหล่านี้อาจไม่ได้เก่งตั้งแต่เกิดหรือมีพรสวรรค์มากๆ แต่เขาเชื่อว่าถ้าพยายามมากพอ ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้" วิรุณรัช พจน์เสถียรกุล กล่าวถึงเรื่องราวคนตามฝันใน "กัมบัตเตะเนะ-เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด"

 


แม้ความสำเร็จจะไม่มีทางลัด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคล็ดลับพิชิตฝัน อย่างในกัมบัตเตะเนะเล่มนี้ ยังมีการสอดแทรกหลักที่เรียนกว่าการโค้ชชิ่ง ที่หมายถึงการให้เราตั้งคำถามถึงปัญหาและอุปสรรคในชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย "ทำในสิ่งที่รัก มั่นใจ รู้จักนำเสนอตัวเอง และไม่หยุดเรียนรู้" คือ ส่วนหนึ่งของศาสตร์การพัฒนาตัวเอง ที่พิชชารัศมิ์ นำมาเชื่อมโยงกับชีวิตจริงที่ทำงานในองค์กรใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัย ถ่ายทอดผ่านตัวอักษร แบ่งปันความคิดใหม่ๆ ให้ผู้อ่านเลือกไปปรับใช้

"การทำงานแบบญี่ปุ่นมีความชัดเจนในเรื่องระบบ ขั้นตอนต่างๆ การพยายามทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหน บางทีเรามองว่าโอกาสที่จะทำให้สำเร็จได้ดูน้อยมาก อาจจะมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คนญี่ปุ่นเลือกที่จะลงมือทำ ลงมือศึกษาค้นคว้า แล้วทำจนสำเร็จขึ้นมาได้"

 

 

การได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมการทำงาน และได้โอกาสทางธุรกิจกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ นับเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่กระตุ้นให้คนทำงานขับเคลื่อนความฝันเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งตัวอย่างคนตามฝันทั้ง 15 เส้นทางในกัมบัตเตะเนะ ล้วนพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกความสำเร็จย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง