ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลสืบพยานปากสุดท้ายคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ทุ่งยางแดง นัดฟังคำสั่ง 14 ก.ย.

ภูมิภาค
26 ก.ค. 59
12:49
419
Logo Thai PBS
ศาลสืบพยานปากสุดท้ายคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ทุ่งยางแดง นัดฟังคำสั่ง 14 ก.ย.
ศาลจังหวัดปัตตานีสืบพยานนัดสุดท้าย ในการไต่สวนการตายของนักศึกษาและชาวบ้าน 4 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตจากการสนธิกำลังเข้าปฏิบัติการที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อปี 2558 ศาลนัดฟังคำสั่ง 14 ก.ย.นี้

วันนี้ (26 ก.ค.2559) ศาลจังหวัดปัตตานีสืบสวนพยานปากสุดท้าย ในคดีหมายเลขดำที่ ช.11/2558 กรณีนักศึกษาและชาวบ้าน 4 คน ถูกยิงเสียชีวิตจากการสนธิกำลังเข้าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่บ้านโต๊ะชูด ม.6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ซึ่งพยานปากสุดท้าย คือ นายอิสมาแอลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษา 2 คน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ศึกษาอยู่

นายอิสมาแอลุตฟีกล่าวต่อศาลว่าขอยืนยันตามที่มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ตอนช่วงเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากรณีนี้อาจเป็นคดีตัวอย่างที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว ตามที่ทางมหาวิทยาลัยมีออกแถลงการณ์ออกไป และตนคาดหวังว่าฝ่ายความมั่นคงจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2558 เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ระบุว่า

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.20 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจากสภ.ทุ่งยางแดง จนท.ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คน คือ นายคอลิด สาแม็ง และนายมะดารี แม้เราะ โดยสื่อกระแสหลักได้มีการให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ (RKK) มีอาวุธและได้ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งข่าวดังกล่าวเป็นเท็จและได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และ ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงขอเสนอข้อเท็จจริง เพื่อจะได้นำไปประกอบการพิจารณาคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งที่ดำเนินอยู่และมีแนวโน้มที่จะลุกลามขยายตัวต่อไป ดังต่อไปนี้
1.นักศึกษาที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน อยู่ระหว่างการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ประวัติการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแนวร่วม RKK แต่อย่างใด และทั้งสองคนไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงใดๆ และมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่านักศึกษาทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
2.เพื่อร่วมกันดำรงรักษาความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ตามนโยบาย คสช.และรัฐบาล มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ขอให้มีการตั้งกรรมการกลางขึ้นสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันโดยคณะกรรมการกลางฯดังกล่าวประกอบขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีผู้เแทนมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางฯ ดังกล่าวด้วยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวที่ได้ตรวจสอบแล้วอย่างเป็นกลางด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ งดการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียหายและมหาวิทยาลัยในระหว่างที่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการสรุป
4.ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และยึดมั่นนโยบายพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม
5.มหาวิทยาลัยฟาฏอนีขอยืนยันที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่ายและเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มีความยุติธรรม การให้เกียรติ ความรอบคอบ ปราศจากอคติและผลประโยชน์ใดๆ ทับซ้อน

ด้านนางซูรายา สาแม็ง มารดาของนายคอลิด สาแม็ง หนึ่งใน นักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่เสียชีวิต ยืนยันที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบุตรชายตน เนื่องจากผลสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้เป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ แต่จากการฟังคำให้การของเจ้าหน้าที่ในการสืบพยานครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังคงระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุและมีอาวุธ

ทั้งนี้ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายในวันที่ 14 ก.ย.2559

 ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุวิสามัญฆาตกรรมที่บ้านโต๊ะชูดมาฟังการสืบพยานปากสุดท้ายในการไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดปัตตานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง