วันนี้ (7 ส.ค.2559) เวลา 20.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังจากนับบัตรออกเสียงประชามติไปร้อยละ 94 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่มีอยู่ 23 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับในกรุงเทพฯ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 4,483,075 คน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 1,369,046 หรือ 69.42 เปอร์เซนต์ ไม่เห็นชอบ 603,037 คน หรือ 30.58 เปอร์เซนต์ และเห็นชอบคำถามพ่วง 65.96 เปอร์เซนต์ ไม่เห็นชอบ 34.04 เปอร์เซนต์
นายสมชัย สุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่าเบื้องต้น จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติในวันนี้ 58 เปอร์เซนต์ ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ออกมาลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ 57 เปอร์เซนต์ แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าที่ กกต.ตั้งไว้ที่ 80 เปอร์เซนต์ ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 50 ล้านคน โดยคาดว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ตื่นตัวกับการลงประชามติมากเท่ากับการเลือกตั้ง
หลังปิดหีบลงประชามติเมื่อเวลา 16.00 น. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.นำ กกต.ทั้งคณะแถลงข่าวสรุปการจัดการลงประชามติว่า การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง หากไม่มีการคัดค้านใดๆ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังปิดหีบลงประชามติ กกต.จะรายงานผลการลงประชามติและจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ให้นายกรัฐมนตรีได้โดยเร็ว
นายศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาในทิศทางใด เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะให้การยอมรับ เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ภายหลังทราบผลการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มการเมืองต่างๆ ได้ออกมาประกาศยอมรับผลการลงประชามติ เริ่มจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศจุดยืนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยนายอภิสิทธิ์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva ว่า ขอน้อมรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนที่ได้ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในวันนี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของการลงประชามติดังกล่าว
"จากนี้ไป คสช.จะมีหน้าที่เดินหน้าประเทศไทยตามโรดแมปที่ได้วางไว้ ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในปี พ.ศ.2560 ปัญหาของประเทศที่รอการแก้ไขมีอยู่มาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน หนี้สิน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงการจะต้องเร่งรัดการปฏิรูป เมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ผมและพรรคประชาธิปัตย์จะเร่งเดินหน้าเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ครับ" นายอภิสิทธิ์ระบุ
ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงข่าวที่ศูนย์วอร์รูม นปช. ที่ห้างบิ๊กซี ลาดพร้าว เมื่อเวลา 19.00 น.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.กล่าวว่า หลังจากนี้ นปช. จะทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยและขอฝาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า แม้ว่าวันนี้ชนะแต่ไม่อาจภาคภูมิใจเพราะคู่แข่งขันไม่มีโอกาสแบบเดียวกัน
นายจตุพรยืนยันด้วยว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าแน่นอนเพราะไม่อาจยอมรับกติกาของรัฐธรรมนูญนี้ได้
“แม้ว่าวันนี้ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะชนะ แต่เป็นชัยชนะที่ท่านไม่อาจภาคภูมิใจ เพราะคู่แข่งขันไม่มีโอกาสเช่นเดียวกับท่าน...ผมน้อมรับการตัดสินใจของประชาชนทุกประการ ถ้านี่คือเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ และผมประกาศชัดว่าจะไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งภายใต้กติกานี้อย่างแน่นอน” นายจตุพรกล่าว
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.อีกคนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีประชาชนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวแสดงความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนลงประชามติ เขาระบุว่าในเมื่อการลงประชามติเสร็จสิ้นไปแล้ว รัฐก็ไม่ควรใช้อำนาจดำเนินคดีกับประชาชนที่กระทำในสิ่งที่หากเกิดในต่างประเทศจะไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์มาโดยตลอด โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณประชาชนที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
"กราบขอบพระคุณพี่น้องร่วมอุดมการณ์ทุกท่านที่ได้ผนึกกำลังเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน เราจะเดินหน้าเข้าสู่ยุคปฏิรูปประเทศไทยด้วยกัน" นายสุเทพระบุ
ทางด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อวเลา 20.16 น. วันนี้ (7 ส.ค.) ว่าหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติแล้ว จะสามารถจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 หรืออาจเกินจากนั้นประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มี 4 ฉบับ ซึ่งน่าจะใช้เวลาร่าง 4 เดือน
นายมีชัย ยอมรับว่าการร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นงานยาก เนื่องจากกระทบกับฝ่ายการเมืองทั้งหมด แต่ก็ระบุว่าพร้อมรับฟังความเห็นพรรคการเมือง
เปิดรายชื่อจังหวัด "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญ
(ผลอย่างไม่เป็นทางการ รายงานหลังนับเสร็จ 94 เปอร์เซนต์)
ภาคเหนือ 5 จังหวัด
1.เชียงใหม่ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,599,679 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 336,529 คะแนน ไม่เห็นด้วย 399,890 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 293,095 คะแนน ไม่เห็นด้วย 397,960 คะแนน
2.เชียงราย จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,160,057 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 230,441 คะแนน ไม่เห็นด้วย 285,763 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 194,632 คะแนน ไม่เห็นด้วย 283,480 คะแนน
3.ลำพูน จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 404,398 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 68,429 คะแนน ไม่เห็นด้วย 74,034 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 58,847 คะแนน ไม่เห็นด้วย 72,349 คะแนน
4.พะเยา จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 480,694 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 99,437 คน ไม่เห็นด้วย 113,111 คน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 85,125 คะแนน ไม่เห็นด้วย 111,620 คะแนน
5.แพร่ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 451,832 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 101,677 คน ไม่เห็นด้วย 118,142คน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 87,048 คะแนน ไม่เห็นด้วย 116,275 คะแนน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด
1.หนองคาย จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 515,488 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 83,740 คน ไม่เห็นด้วย 105,648คน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 72,646 คะแนน ไม่เห็นด้วย 103,571 คะแนน
2.บึงกาฬ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 420,089 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 60,070 คะแนน ไม่เห็นด้วย 92,070 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 50,030 คะแนน ไม่เห็นด้วย 92,133 คะแนน
3.นครพนม จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 713,751 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 121,081 คะแนน ไม่เห็นด้วย 134,590 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 100,581 คะแนน ไม่เห็นด้วย 138,995 คะแนน
4.มุกดาหาร จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 346,542 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 50,957 คะแนน ไม่เห็นด้วย 82,784 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 42,991 คะแนน ไม่เห็นด้วย 80,719 คะแนน
5.ยโสธร จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 539,931 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 64,645 คะแนน ไม่เห็นด้วย 113,824 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 55,298 คะแนน ไม่เห็นด้วย 114,889 คะแนน
6.ศรีสะเกษ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,467,779 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 233,056 คะแนน ไม่เห็นด้วย 319,744 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 195,115 คะแนน ไม่เห็นด้วย 318,983 คะแนน
7.สุรินทร์ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,394,032 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 249,839 คะแนน ไม่เห็นด้วย 260,254 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 216,475 คะแนน ไม่เห็นด้วย 266,466 คะแนน
8.ร้อยเอ็ด จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,307,335 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 181,470 คะแนน ไม่เห็นด้วย 323,737 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 152,736 คะแนน ไม่เห็นด้วย 324,044 คะแนน
9.มหาสารคาม จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 964,126 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 166,929 คะแนน ไม่เห็นด้วย 227,428 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 142,736 คะแนน ไม่เห็นด้วย 229,228 คะแนน
10.กาฬสินธุ์ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 984,594 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 169,691 คะแนน ไม่เห็นด้วย 208,487 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 142,398 คะแนน ไม่เห็นด้วย 208,632 คะแนน
11.ขอนแก่น จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,795,386 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 291,498 คะแนน ไม่เห็นด้วย 367,921 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 252,133 คะแนน ไม่เห็นด้วย 363,975 คะแนน
12.ชัยภูมิ จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,137,428 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 191,513 คะแนน ไม่เห็นด้วย 227,507 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 164,172 คะแนน ไม่เห็นด้วย 223,398 คะแนน
13.หนองบัวลำภู จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 509,701 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 70,600 คะแนน ไม่เห็นด้วย 106,906 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 60,922 คะแนน ไม่เห็นด้วย 105,521 คะแนน
14.อุดรธานี จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,570,407 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 134,167 คะแนน ไม่เห็นด้วย 199,359 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 116,193 คะแนน ไม่เห็นด้วย 197,556 คะแนน
15.สกลนคร จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1,141,936 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 200,951 คะแนน ไม่เห็นด้วย 219,404 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 169,035 คะแนน ไม่เห็นด้วย 227,839 คะแนน
ภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด
1.ปัตตานี จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 692,643 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 86,219 คะแนน ไม่เห็นด้วย 160,541 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 82,363 คะแนน ไม่เห็นด้วย 158,195 คะแนน
2.นราธิวาส จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 781,839 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 84,122 คะแนน ไม่เห็นด้วย 136,284 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 79,979 คะแนน ไม่เห็นด้วย 134,005 คะแนน
3.ยะลา จำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 516,785 คน
เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 76,024 คะแนน ไม่เห็นด้วย 110,995 คะแนน
เห็นด้วยกับคำถามเพิ่มเติม 72,447 คะแนน ไม่เห็นด้วย 109,215 คะแนน