อุตสาหกรรมประเมินผลกระทบจากนโยบายรัฐ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ปรับลดประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปีนี้ จากร้อยละ 5.5 - 6.5 เหลือร้อยละ 3.5-4.5 หรือ ลดลงร้อยละ 2 ซึ่งเม็ดเงินที่หายไปคิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงจากร้อยละ 6-8 เหลือเพียง ร้อยละ 2-3 เนื่องจากความเสี่ยงจากดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาขึ้น ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาส หลังได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่น และใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 58.9 ซึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ ทั้งนี้หลังการจัดตั้งรัฐบาล สศอ.จะปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้ง เพราะเชื่อว่านโยบายรัฐบาลใหม่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมและการบริโภคในประเทศเป็นอย่างมาก
นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นในบางกลุ่มอุตสาหกรรม จึงเตรียมสนับสนุนให้กิจการที่ใช้แรงงานมากไปใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยจัดหาและพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ส่งยังได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อทราบผลกระทบจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ เช่น การปรับเงินเดือนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเริ่มที่ 15,000 บาท การปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลและเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการภายในเดือนสิงหาคมนี้