ข้อความบนเฟซบุ๊กของนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึง การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ มีผู้โดยสารน้อยมาก ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ส่งผลให้รายได้จากค่าโดยสารน้อย ขณะที่ต้องแบกรับภาระค่าบริหารจัดการที่ต้องจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา ส่งผลให้ต้องแบกภาระขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่า มีผู้โดยสารใช้บริการต่ำเพียงวันละ 20,000 คน จากที่คาดการณ์ไว้วันละ 60,000-70,000 คน จากปัญหาการเชื่อมต่อที่สถานีเตาปูนไปยังสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งอาจต้องใช้กลยุทธ์การลดราคาเพื่อจูงใจผู้โดยสาร
แต่การลดราคาเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะหากระบบการเชื่อมต่อยังไม่ถูกแก้ไข ประชาชนก็อาจจะไม่เลือกใช้บริการ จึงต้องเร่งรัดให้บีอีเอ็มเข้ามาดำเนินการในส่วนของรอยต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะไปสอดรับกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่ขณะนี้คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 เตรียมเปิดใช้งานปี 2562
หากไล่เรียงตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างแต่ละสาย รถไฟฟ้าสายต่อไปที่จะเปิดใช้บริการในปี 2561 คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 และรถไฟฟ้า ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่จะเปิดใช้งานในช่วงปี 2563 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม/สายชมพู และสายสีเหลือง ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน และในปีหน้า รฟม.ยังมีแผนที่จะดำเนินการขออนุมัติโครงการต่อขยายอีก 4 สายทาง จากคณะรัฐมนตรี
ข้ามมาที่ฟากของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2560 มีความล่าช้าถึงร้อยละ 20 จากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ แต่การรถไฟฯ ยืนยันว่า จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2562 และเปิดให้บริการในปี 2563
ขณะที่ในอนาคตโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าของไทยจะมีมากกว่า 10 เส้นทาง ครอบคลุมการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้อัตราค่าโดยสาร คือ จุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผู้โดยสารจะเลือกใช้บริการ