ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.ไฟเขียว "บรรษัทรัฐวิสาหกิจฯ-พ.ร.บ.เขต ศก.พิเศษ 10 จว."

การเมือง
23 ส.ค. 59
17:38
982
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียว "บรรษัทรัฐวิสาหกิจฯ-พ.ร.บ.เขต ศก.พิเศษ 10 จว."
วันนี้ (23 ส.ค.2559) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 10 ตำแหน่ง พร้อมเห็นชอบจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจและร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

มติ ครม.แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 10 ตำแหน่ง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 10 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

1.น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์
2.นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
3.นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4.นายรวี ประจวบเหมาะ เป็น ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
5.นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ เป็น อธิบดีกรมราชทัณฑ์
6.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็น เลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักนายกรัฐมนตรี
7.นายสุภัทร จำปาทอง เป็น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
8.นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เป็น เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา
9.นายนเร เหล่าวิชยา เป็น อธิบดีกรมพลศึกษา
10.น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช เป็น อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.พัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน "เขตเศรษฐกิจพิเศษ-ส่งเสริมลงทุน-สรรพสามิต"

ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาพื้นที่ 10 จังหวัดได้แก่ จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และ จ.นราธิวาส ให้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและมีจุดบริการแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งเป็นผู้รับผิดชอบ และยังอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการนิคมมีอำนาจสอดคล้องกับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... เช่น การนำวัตถุดิบเข้าไปในพื้นที่ฟรีโซน การจะเบียนเครื่องจักรและการจดทะเบียนพาณิชย์

พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ได้มีการแก้ไขให้เพื่มเครื่องมือการลงทุนให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับนิติบุคคลจำนวน 13 ปี สำหรับบริษัทที่ประเทศกำลังต้องการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมใหม่และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และยังมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในด้านการบริหารงานในการให้คณะกรรมการชุดเดิมสามารถทำงานต่อได้หากยังไม่สามารถหาคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามา, การแก้ไขพันธสัญญาให้สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก ( WHO) และการประเมินผลการดำเนินการทุก 4 ปีโดยบุคคลภายนอกและรายงานให้สาธารณชนรับทราบ

พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ประเทศกำลังต้องการ พ.ร.บ.ฉบับนี่จะอำนวยความสะดวกการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้ 15 ปีและให้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนที่มีจำนวน 10,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและบุคลากร

สำหรับการปฏิรูปร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตด้วยการรวมกฎหมาย 7 ฉบับเข้าด้วยกัน จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของฐานภาษี เนื่องจากภาษีสรรพสามิตภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะคิดตามราคาขายปลีกเป็นหลักและจะมีการดูแลการจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกันและลดการใช้ดุลยพินิจจากเจ้าหน้าที่ในการขอใบอนุญาต รวมถึงจะมีการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อให้ได้มาตรฐานและมีความคล่องตัวในการทำงานอีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะดำเนินการให้สอดคล้องกับภาษีศุลกากรด้วย

เห็นชอบตั้ง "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ"

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ซึ่งจะตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ... หรือร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นการปฏิรูปและการสร้างกลไกกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินของประเทศ เน้นการสร้างความโปร่งใสปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พร้อมยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อควบคุมดูแลรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน), การบินไทย, ธนาคารกรุงไทย, บริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด, บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ส่วนการคัดเลือกคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ จะทำการคัดเลือกระหว่างบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งว่าต้องการบุคลากรประเภทใด เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานและในแต่ละตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาระบบประเมินผลให้สามารถวัดแผนการดำเนินงานและนโยบายว่าเป็นไปตามกรอบที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่ โดยการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติจะต้องผ่านจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายในปลายปี 2559 และคาดว่าในต้นปี 2560 จะเริ่มจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้ โดยสัดส่วนหุ้นบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็น

นายเอกนิติ ยืนยันว่าการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ จะเป็นการป้องกันนโยบายประชานิยมและการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เพราะต้องมีการทำข้อตกลงระหว่างบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติและรัฐวิสาหกิจ การทำบัญชีแยก การประมาณการณ์ค่าใช้จ่าย การเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนและการเสนอเข้า คนร.เพื่อขออนุมัติซึ่งหากไม่ผ่านกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งจะไม่สามารถดำเนินนโนยายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง