ขณะที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยืนยันว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นไปไม่ได้ในทางหลักการ
ในรายการเวทีสาธารณะ ตอน "โปแตชอีสาน" นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมกล่าวว่า ในกระบวนการขุดพื้นที่ใต้ดินอีสานเพื่อทำเหมืองแร่โปแตซนั้น นอกจากจะได้แร่โปแตชเซียมคลอไรด์แล้ว ยังได้เกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ขึ้นมาด้วยในปริมาณ 1 ต่อ 2 หรือบางพื้นที่อาจมากถึง 1 ต่อ 3 โดยสมมุติว่าได้โปแตชเซียมคลอไรด์ 2 ล้านตัน ก็จะได้โซเดียมคลอไรด์ 4 ล้านตัน ซึ่งแร่โซเดียมคลอไรด์นี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมกระจก อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมสีเคมี จึงเป็นไปได้อย่างมากว่าจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเกลือที่ได้จากเหมืองแร่โปแตช
"เกลือโซเดียมคลอไรด์มูลค่ามันไม่ได้อยู่ที่ตันละ 2,000 บาท มูลค่ามันอยู่ที่ถ้ายิ่งทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากขึ้นเท่าไหร่ มูลค่ามันก็จะทบทวีมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อเท็จจริงที่ถูกปิดบังอำพรางมาตลอดเวลา คือ หน่วยงานราชการไม่ยอมพูดความจริง โดยเฉพาะการผลักดันเหมืองแร่โปรแตชที่ชัยภูมิ คือรัฐบาลอาเซียนที่เข้ามาลงทุนนั้น เขารู้ตั้งแต่ต้นว่า การผลักดันเหมืองแร่โปรแตชที่บำเหน็จณรงค์นั้น ไม่ได้ต้องการแค่แร่โปรแตช แต่ต้องการเคมีคอล คอมเพล็กซ์ หรืออุตสาหกรรมครบวงจรที่จะเกิดขึ้นจากเกลือ เคมีคอลคอมเพล็กซ์ ถูกสร้างมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ในการผลักดันเหมืองแร่โปรแตชชัยภูมิ รัฐบาลอาเซียนรู้เรื่องนี้มาตลอด รัฐบาลอาเซียนไม่เคยพูดว่า ต้องการเอาโปรแตชอย่างเดียว"
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า เกลือจำนวนมากที่ถูกขุดขึ้นมาจากเหมืองนั้นจะถูกนำไปกองไว้บนดิน ซึ่งแม้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่โปแตชจะกำหนดไว้ว่า กองเกลือจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะต้องถูกนำกลับลงไปถมใต้ดินหลังจากที่ขุดแร่โปแตชขึ้นมาแล้วนั้น แต่หากมีการจัดการไม่ดี กองเกลือเหล่านี้ก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
"เรื่องกองเกลือ และอาจจะมีการทะลักรั่วไหลรั่วซึมจากกองเกลือที่กองไว้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญคือ ต้องจัดการให้ดีตั้งแต่แรก หมายความว่าจะต้องปูพลาสติกทำไม่ให้รั่วซึม เพราะว่าเวลารั่วซึมแล้ว จะเข้าไปแก้ไขอย่างไร มันยาก มันเหมือนกับมีเกลือ 40 ล้านตัน กองนี้ 20 ล้านตัน สมมุติว่ามันรั่วอยู่ตรงกลาง จะเข้าไปปะมันยังไง นี่คือสิ่งที่ห่วงกังวล"
ขณะที่นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้สัมภาษณ์ว่า ในกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตประทานบัตรเอาไว้ชัดเจนว่า เกลือที่ถูกขุดขึ้นมาจากการทำเหมืองนั้น ภายหลังจากขุดแร่โปแตชออกมาหมดแล้ว เกลือเหล่านี้จะต้องถูกถมกลับลงไปเหมือนเดิม จึงไม่มีเหตุผลที่บริษัทจะไม่ทำตาม ส่วนในกรณีเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมีบริบทที่แตกต่างกัน จึงอาจเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่จะนำเกลือที่ได้ไปขยายทำธุรกิจต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ การจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ตัดสินใจ
"ในกรณีชัยภูมิ มีเกลืออยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินอุโมงค์ อันนี้ไม่ใช่หางแร่จากเกลือ ในการเดินอุโมงค์ต้องผ่านชั้นเกลือ ก็จะได้เกลือออกมาด้วย อันนี้ก็อาจจะนำไปขยายทำธุรกิจต่อเนื่องต่อไป คำถามที่วิตกกันมากว่า อุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเกิดขึ้นหรือไม่ ผมต้องบอกว่า เมื่อใดก็ตามที่มีโครงการอะไรเกิดขึ้น การที่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ถ้ามีได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ตรงนี้ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นตัวตัดสินว่า โครงการเหล่านั้นสมควรที่จะมีหรือไม่" นายชาติกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาประทานบัตรและอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัทเอกชนจำนวน 42 บริษัท ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองคาย ยโสธร และ ร้อยเอ็ด รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3.5 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซแล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ดำเนินการในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา