วิวัฒนาการกล้องสมัยแรกเริ่มถ่ายภาพในสยามหรือราว 150 กว่าปีที่แล้วยังไม่อาจจับภาพอย่างฉับไว ยามถ่ายภาพสื่อการเคลื่อนไหวร่ายรำของคณะละคร จำเป็นต้องตั้งท่าจัดฉากทั้งหมด หากนี่คือความสวยงามตื่นตาในมุมมองช่างภาพชาวต่างชาติ เป็นภาพถ่ายโบราณจาก 150 ภาพ ในนิทรรศการฉายาลักษณ์สยาม จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
5 หมวดหมู่ของชุดภาพ ฉายให้เห็นภาพเหตุการณ์สำคัญ พระราชประเพณี สังคมบ้านเมือง และยุคกำเนิดสตูดิโอในสยามนิยมถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 พระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ชาวต่างชาติที่มารับราชการ ตลอดจนราษฎรหรือหญิงสาวชาวสยาม เปลี่ยนความเชื่อเรื่องการถ่ายภาพว่าเป็นการแช่งให้อายุสั้นค่อยๆ จางไป เป็นภาพถ่ายจากช่างภาพ 15 คนสำคัญ ที่ใช้ชีวิตในสยามตามช่วงเวลาสั้นๆ และยาวนานต่างกันไป จนบางคนได้รับแต่งตั้งเป็นช่างภาพราชสำนัก ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของอาชีพ หากเมื่อกลับไปแล้วแทบไม่ปรากฎประวัติบันทึกไว้ 20 กว่าปีมานี้ โจคิม เค บาวท์ซ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเยอรมัน ใช้เวลาค้นคว้าประวัติช่างภาพและรวบรวมภาพถ่ายทั้งหมดมาจากหลายประเทศในยุโรป
โจคิม บอกว่าภาพถ่ายส่วนใหญ่คนไทยเข้าไม่ถึง แต่รวมอยู่ในสถาบันและมือนักสะสมต่างชาติ การรวมไว้ในหนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้ว่าในศตวรรษที่ 19 มีช่างภาพคนใดเข้ามาบ้าง อยากให้คนไทยได้รับรู้ประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้น
ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์-โจคิม เค บาวท์ซ-ไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์
"ที่มาอยู่ในเมืองไทยนานๆ คือ โรเบิร์ต เลนซ์ เป็นผู้ถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 หลายภาพ หรือโจคิม แอนโทนิโอ ที่ถ่ายภาพชาวบ้านหรือผู้หญิง หรือกระทั่งวิลเลียม เคนเนท ลอฟตัส ที่เข้ามาไม่นานมาก แต่ก็ถ่ายรูปได้สวยมาก หรือบางคนที่ขึ้นมาจากสิงคโปร์ สมัยนั้นช่างภาพหลายคนอยู่ที่สิงคโปร์ เมื่อมาที่กรุงเทพฯ จะโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ว่าจะเดินทางมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และเชิญชวนให้ผู้คนมาถ่ายภาพ ในราคาที่ไม่แพง" ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ภัณฑารักษ์รับเชิญ เล่าถึงเรื่องราวของช่างภาพชาวต่างชาติที่ผลงานถูกรวบรวมไว้ใน "ฉายาลักษณ์สยาม"
ส่วนเบื้องหลังการรวบรวมภาพ อีกหนึ่งภัณฑารักษ์ ไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ เผยว่า บางภาพมีขนาดเล็กเท่านามบัตรเท่านั้น ครั้งนี้ภาพเหล่านี้ถูกนำมาขยายใหญ่ 20-30 เท่า จะเห็นรายละเอียดเรื่องเสื้อผ้า สีหน้าต่างๆ
ภาพถ่ายยุคแรกเริ่มจนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาราว 50 ปี สะท้อนการพัฒนาภาพถ่ายของยุคสมัย และเป็นบันทึกหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้านเมือง เช่น ภาพเจ้าจอมสุเบีย ธิดาแห่งสุลต่านลิงกาในอินโดนีเซีย พระชายามุสลิมคนเดียวของรัชกาลที่ 4 ไม่มองกล้องตามธรรมเนียมมุสลิม รวมพิมพ์กว่า 700 ภาพ เป็นหนังสือฉายาลักษณ์สยาม นิทรรศการภาพถ่ายโบราณจัดแสดงถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับงานของศิลปินร่วมสมัย 9 คน ตามแนวคิดระลึกอดีตมองปัจจุบัน
เจ้าจอมสุเบีย ธิดาแห่งสุลต่านลิงกาในอินโดนีเซีย
พระชายามุสลิมคนเดียวของรัชกาลที่ 4