คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและนำเสนอไปยัง กรธ.แล้ว ออกมายืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีเรื่องของการ "เซ็ต ซีโร่ พรรคการเมือง" แต่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้เพิ่มความเข้มแข็งพรรคการเมืองด้วยการเสนอให้กำหนดใน ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า ให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละไม่เกิน 200 บาท พร้อมกับ "รีเซต" หรือ รื้อระบบสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด โดยให้สมาชิกมาแสดงเจตจำนงยืนยัน เพื่อจัดเก็บในระบบฐานข้อมูล แก้ปัญหาการนำชื่อไปแอบอ้างเพื่อขอเงินสนับสนุนจาก กกต.และหากพบการสวมรอยจะเข้าข่ายใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ มีโทษจำคุกถึง 10 ปี
เช่นเดียวกับ กกต.ที่เสนอให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 200 บาท ต่อคนต่อปี ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเสริมความเข้มแข็งของพรรค ไม่นับรวมข้อเสนอให้พรรคการเมืองต้องส่งนโยบายหาเสียงให้ กกต.ดู ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ไม่มีข้อเสนอให้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่อย่างที่เคยมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้
"ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสถาบัน เป็นพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็ง มีลักษณะเป็นสถาบันที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลที่ดีที่สุดต่อการเมืองไทยได้" นายสมชัยกล่าว
ขณะที่ฝ่ายการเมืองมองว่า ข้อเสนอเรื่องเงินบำรุงพรรคสูงถึง 200 บาท อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ตั้งคำถามถึงเหตุผลของข้อเสนอนี้ และมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องรื้อระบบสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด และแม้จะเห็นว่านโยบายหาเสียงควรมีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งงบประมาณและผลกระทบ แต่ กกต.ไม่น่าจะอยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ได้
สุดท้ายแล้ว การเขียนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของ กรธ. ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.มีแนวคิดที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเตรียมจัดเวทีสัมมนา เพื่อรวบรวมความเห็น และบัญญัติเนื้อหาให้อยู่บนความพอดี