นายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ปรึกษาในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ "โครงการทางเลียบแม่น้ำ 14 กิโลเมตร สร้างสรรค์ หรือ ทำลาย" ว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนถูกกำหนดทีโออาร์มาแล้ว และการมอบหมายให้สถาบันการศึกษามาทำหน้าที่สำรวจ ศึกษา และออกแบบ เพื่อจัดทำแผนแม่บทโครงการระดับประเทศ ถือว่าไม่สมควร
"เวลาเพียง 7 เดือน ในการทำทีโออาร์ เป็นเวลาที่สั้น และรวดเร็วเกินไป ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน จะทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และการไหลของกระแสน้ำ มากกว่าเกิดประโยชน์" นายปราโมทย์กล่าว
ขณะที่นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน แสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าวหลังติดตามการดำเนินงาน 7 เดือนที่ผ่านมา พบข้อบกพร่องหลายประเด็นต่อทิศทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นทีโออาร์ในการจัดจ้างศึกษาโครงการ ความไม่โปร่งใส และความคุ้มค่าการใช้งบประมาณ การบิดเบือนข้อเท็จจริง
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความเห็นว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีโครงการใดๆ และหากโครงการดังกล่าวสำเร็จ เอกชนบางกลุ่มอาจเข้ามาใช้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้
เวทีเสวนาครั้งนี้ยังเรียกร้องให้ทบทวนโครงการดังกล่าวอีกครั้ง แม้อีกประมาณ 5 วัน ทีมที่ปรึกษาโครงการเพื่อสำรวจออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องส่งผลสรุปโครงการต่อกรุงเทพมหานครก็ตาม