ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.ปรับแก้ 2 ประเด็น

การเมือง
28 ก.ย. 59
17:41
626
Logo Thai PBS
ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.ปรับแก้ 2 ประเด็น
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่ตรงกับผลประชามติ ส่งกลับให้ กรธ. พิจารณาปรับแก้มาตรา 272 ใน 2 ประเด็น

วันนี้ (28 ก.ย.2559) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง โดยมี 2 ประเด็นต้องปรับแก้คือ

1) ประเด็นเรื่องผู้มีสิทธิ์ขอยกเว้นการเสนอนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง จากเดิมที่ระบุให้เป็นอำนาจของ ส.ส. แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นควรเพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ในจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของทั้ง 2 สภา

2) ให้ปรับระยะเวลาของการใช้เงื่อนไขพิเศษการมีนายกฯ คนนอกว่า ให้ทำได้ตลอด 5 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่มีรัฐสภา 

การพิจารณาและลงมติของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้มีขึ้นหลังจากที่ กรธ.ยื่นคำร้อต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ปรับแก้ให้สอดรับกับคำถามพ่วงนั้นชอบด้วยผลประชามติหรือไม่

ทั้งนี้ คำถามพ่วงในการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ระบุว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำถามพ่วงมีเจตนาเพียงให้รัฐสภามีส่วนในการโหวตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้บุคคลที่เข้ามาทำให้เกิดการปฏิรูปการเมือง และทำยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น ส่วนหน้าที่ในการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ ยังคงเป็นของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุแล้ว ขั้นตอนของการเสนอชื่อนายกฯ จะเป็นดังนี้ 

ขั้นตอนที่ 1 ส.ส.สามารถเข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 (25 คน) ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้เป็นนายกฯ ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 2 กรณีที่ไม่สามารถลงมติเลือกนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมืองในขั้นตอนที่ 1 ได้ ให้รัฐสภาลงมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (367 เสียงขึ้นไปจาก 750 เสียง) เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อขอมติให้ได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของรัฐสภา (มากกว่า 500 เสียงใน 750 เสียง) ในการขอยกเว้นเงื่อนไขการเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อมีการยกเว้นเงื่อนไขแล้ว ส.ส.เข้าชื่อไม่ต่ำกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกบัญชีพรรคการเมืองให้รัฐสภาโหวดให้เป็นนายกฯ ด้วยเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (376 เสียงจาก 750 เสียง)

สำหรับขั้นตอนการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ กรธ.ต้องดำเนินการ ภายใน 15 วัน ก่อนส่งร่างที่ปรับแก้สมบูรณ์ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 30 วัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง