ผศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมฯ เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมทางสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ที่น่าสนใจของแต่ละรุ่นอายุ โดยพบว่า "เบบี้บูมเมอร์" มีพฤติกรรมเคารพกติกาสังคมสูง แต่ไม่ค่อยยอมรับความหลากหลาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี, คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่อยู่วัยทำงาน แต่ยังไม่มีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่มั่นคง มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่มีหลักประกันมั่นคง
ขณะที่คนเจนเอ็กซ์เติบโตมาพร้อมวัฒนธรรมไทยกลิ่นอายต่างชาติ พฤติกรรมทางสังคมจึงเปิดกว้าง อัตราการแต่งงานช้า ครองโสดมากขึ้น พึ่งพาตัวเองสูง พึ่งพาลูกหลานน้อยลง ซึ่งคนรุ่นนี้มีหลักประกันรายได้ยามชราภาพที่ดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากพฤติกรรมทางเพศ สูบบุหรี่และดื่มสุรา
ส่วนคนเจนวาย หรือวัยรุ่น ขณะนี้พบพฤติกรรมทางสังคมที่มีความคิดแต่งงานช้า ไม่ต้องการมีบุตร ชอบชีวิตอิสระ และพบว่า 1 ใน 3 ใช้ชีวิตตามลำพังที่คอนโดมิเนียมและหอพัก ส่วนรายจ่ายถึงร้อยละ 77 หมดไปกับอาหาร พฤติกรรมทางสุขภาพของคนกลุ่มนี้ในเขตเมืองพบว่ามีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 15 ปี ในวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี เปลี่ยนคู่นอนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 คนเท่ากับผู้ชาย
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการ คนที่ 2 สสส.ระบุถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ พบว่า คนเจนเอ็กซ์และเจนวายต้องจับตาหนี้เสียในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะเจนวายมีหนี้เสียจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน
สำหรับสัดส่วนประชากรไทยปี 2559 ประกอบด้วย เจนเอ็กซ์ อายุระหว่างปี 2504-2524 มากที่สุดถึง 23 ล้านคน, เจนวาย อายุระหว่างปี 2525-2548 จำนวน 22 ล้านคน, เบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่างปี 2486-2503 จำนวน 11.7 ล้านคน และหลังเจนวายอีก 7.8 ล้านคน