ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถก "ทางเลียบเจ้าพระยา" จวกตั้งแต่อีไอเอ-ผลกระทบ-งบฯ-ความจำเป็น

สังคม
30 ก.ย. 59
17:50
1,096
Logo Thai PBS
ถก "ทางเลียบเจ้าพระยา" จวกตั้งแต่อีไอเอ-ผลกระทบ-งบฯ-ความจำเป็น

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังข้อเท็จจริงกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (แลนด์มาร์ค เจ้าพระยา) เมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) โดยมีตัวแทนสำนักงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งผู้ร้องคือ เครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการ เช่น นายกฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู ผู้บริหารโรงแรมสุโกศล เข้าร่วมเสนอข้อมูลด้วย เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ก่อนเป็นข้อเสนอสู่รัฐบาล แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะหลายคำถามเกิดจากฝ่ายผู้ร้อง และคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนตั้งคำถาม ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรุงเทพมหานคร และสถาบันการศึกษาผู้ศึกษาโครงการ

 

วอน กสม. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า การพูดคุยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากจากกสม.ได้รับคำร้องจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly-RA) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ของโครงการที่มีแนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของชุมชนริมน้ำที่ได้รับผลกระทบ 34 ชุมชน

ซึ่งผู้ร้องระบุว่า ประชาชนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ ขาดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งผู้ดำเนินโครงการไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนริมน้ำที่แน่ชัด รวมถึงสจล.และกทม.ไม่เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษา ในการส่งงานแต่ละขั้นตอน ให้สาธารณะตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ ทาง กสม.จึงต้องรับฟังข้อมูลวันนี้เพื่อจะดำเนินการประสานงานต่อไป

“ตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่ายังมีชาวบ้านริมน้ำที่ยังไม่เห็นด้วยต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และการจะสร้างทางเดินหรือทางปั่นจักรยาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลของโครงการที่ยังไม่ทั่วถึง จึงอยากฟังอีกชัดๆ และสรุปข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลต่อไป เพราะเรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญก็มีการลงความเห็นว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนริมน้ำพอสมควร” นางเตือนใจกล่าว

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ (River Assembly) ประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม อาศัยสิทธิตามที่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
- ยื่นหนังสือต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดการศึกษา และกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม
- ยื่นหนังสือต่อ หัวหน้าโครงการเจ้าพระยาเพื่อทุกคน (Chao Phraya for all) ขอข้อมูลเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
- และ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เพื่อขอเอกสารประกอบการศึกษา และตรวจรับงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


กทม.ไม่ยอมเปิดผลการศึกษาผลกระทบกับประชาชน

นายยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ (River Assembly) ระบุว่า ในวันที่ 26 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ส่งมอบงานการศึกษา และออกแบบโครงการทั้งหมดให้แก่กรุงเทพมหานคร แต่กทม. ที่ควบคุมการทำงานของที่ปรึกษา ยังไม่เปิดเผยผลการศึกษา ที่ปรึกษาก็ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินการ ที่ได้แจ้งเป็นเอกสารต่อประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้ง เครือข่ายผู้ร้องจึงมีความกังวล เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงพื้นที่มรดกวัฒนธรรม และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จึงตั้งข้อสังเกต 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

- ด้านการไม่เปิดเผยผลการศึกษาว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ จึงไม่คุ้มครองสิทธิในข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วม
- ด้านนโยบาย ไม่เปิดเผยและให้ข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนดไว้ใน TOR ว่าดำเนินการถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของชาติ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมวันที่ 1 สิงหาคม 2543
- ด้านกระบวนการ ไม่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนของกรุงเทพมหานคร ที่ปรึกษาแจ้งว่าเป็นการทำงาน 3 ส่วนคู่ขนาน คือ งานศึกษา และจัดทำแผนแม่บท งานสำรวจรายละเอียด และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม

คนริมน้ำจวกโครงการ-ทำลายทั้งชุมชน-ระบบนิเวศ

ด้าน นายฐาพัช อำไพจิตร์ ชาวบ้านปูน บางพลัด กรุงเทพฯ ระบุว่า ชุมชนบ้านปูนเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับสะพานพระราม 8 เคยได้รับผลกระทบจากการสร้างสะพานมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่รับได้ เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกในการสัญจรสาธารณะ ขณะนี้ชาวบ้านริมน้ำหลายร้อยครัวเรือน ยังทำอาชีพประมงพื้นบ้าน หาหอย ปู ปลา เช่นเดิมเหมือนช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา และต่อมาชาวบ้านเรียนรู้ผลกระทบของการพัฒนาแม่น้ำ จากโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ขึ้นลง อย่างไม่เป็นปกติทำลายระบบนิเวศไปบางส่วนแล้ว ตนจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการที่ สจล.และกทม.จะดำเนินการ

“คุณเป็นนักวิชาการคิดๆ โครงการมาทำงาน หาเงินเสร็จคุณไป แต่คนที่จะอยู่ด้วยกับโครงการซึ่งจะเกิดผลเสียในภายภาคหน้า คือพวกผม พวกชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ เราอยู่กับธรรมชาติมานาน เช้า เย็นเราตื่นมาเห็นแม่น้ำ ความรู้เรามีแค่ว่า น้ำขึ้น-ลง ดูแลตัวเองยังไง จุดไหนควรหาสัตว์น้ำ จุดไหนจอดเรือประมง นอกจากหากินแบบพื้นบ้านแล้ว เรายังมีอาชีพพายเรือขายของอีก เราใช้เรือเป็นชีวิตประจำวัน เป็นปกติ แต่อยู่ๆ จะมีทางเบี่ยง ทางเลี่ยง ทางเลียบหรือเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ โดยอ้างว่าเพื่อให้สิทธิสาธารณะได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ผมว่าเหตุผลฟังไม่ขึ้น คุณแค่คิดๆ ทำๆ มีเงินก็ทำแล้วอย่างนี้ พวกผมจะรองรับเป็นหนูทดลองของพวกคุณนานแค่ไหน ผมอยากให้กรรมการสิทธิเข้าใจด้วยว่า พวกเราไม่ได้มีความสุขกับการถูกโยกย้ายและรอวันได้รับผลกระทบจากโครงการ เราขอให้ทางผู้จัดหยุดโครงการไปเลย และหากคุณยืนยันว่ามีคนเห็นด้วย คุณก็เอาหลักฐานมากางให้ชัดเจน แต่สำหรับผม ชุมชนแต่ละชุมชนมีมรดกวัฒนธรรมต่างกันก็จริง แต่เราใช้แม่น้ำร่วมกัน กับไอ้แค่สร้างทางรถวิ่ง หรือทางจักรยานนั่นมันแค่สุขทางสายตา คนจะตายคือพวกผม” นายฐาพัช กล่าว

ถาม-โครงการมีความเป็นธรรมจริงหรือ

ขณะที่ ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า เห็นด้วยกับการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการบุกรุก จึงตั้งคำถามว่า การทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา คือ การเข้าถึงอย่างเป็นธรรมจริงหรือไม่ เพราะคนในชุมชนที่อยู่เดิม ได้รับความเป็นธรรมด้วยหรือไม่ ขณะที่การอ้างว่าเป็นการจัดระเบียบรุกล้ำลำน้ำ ตนมีความเห็นว่าสิ่งนี้ควรทำ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากขนาดโครงการนี้ ดังนั้นการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพื่อการเข้าถึงแม่น้ำ หรือจัดระเบียบ และแก้กฎหมายนั้นคือความเป็นธรรมจริงหรือไม่

ระบุให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำเท่าเทียมกัน

ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการโครงการฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การสร้างโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าใช้ริมน้ำได้เท่าเทียมกัน เพราะที่ผ่านมามีคนรุกน่านน้ำและมีเอกชน ร้านอาหารเช่าที่ปลูกสร้าง คนทั่วไปจะเข้าถึงก็ลำบาก จึงเป็นผลดีต่อประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตามกรณีมีรายงานข่าวว่า ไม่มีการรับฟังข้อคิดเห็นนั้นไม่จริง เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีการสำรวจศึกษาและสอบถามมาแล้วอย่างน้อย1-4 ครั้ง และผู้ศึกษาได้วางแผนโครงการอย่างดีแล้ว จนมีข้อสรุปว่า กรณีการเดินหน้าโครงการนั้น จะมีการละเว้นชุมชนที่มีมรดก วัฒนธรรม โบราณ ไว้ เช่น กรณีชุมชนย่านวัดเทวราชกุญชร เราก็จะออกแบบพัฒนาเส้นทางที่ไม่ไปส่งผลต่อการทำลายทัศนียภาพ

“อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะสื่อ พยายามเข้าใจประเด็นให้ได้ก่อนว่า ประโยชน์คืออะไร ควรเข้าใจว่าโครงการนี้ต้องการให้แม่น้ำเจ้าพระยา มาเป็นสาธารณะ แต่ละคน ได้หรือเสียประโยชน์ไม่เท่ากัน ดิฉันต้องมานั่งแก้ข่าว ขอให้สื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ อาจได้ยอดแชร์เยอะ โซเชียลมาเดี๋ยวก็ไป ขอให้เน้นประโยชน์ที่จะกลับมาสู่ประเทศชาติ ขอให้สื่อกรองข้อมูล อย่าตามแต่กระแสโซเชียล” ดร.อันธิกา กล่าว

แนะให้ความสำคัญกับการคมนาคมที่สอดคล้องกับความจริง

ด้าน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ผู้บริหารโรงแรมเดอะสุโกศล กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นผู้แทนเอกชนผู้ประกอบการโรงแรมก็ตาม แต่ภาพที่เห็นจนชินตา คือ ภาพเรือประมง เรือท่องเที่ยว ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวต่อโครงการนี้ หากทางผู้ดำเนินโครงการต้องการพัฒนาแม่น้ำก็ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางเรือ ไม่ใช่พัฒนาทางบกที่กำลังเกิดขึ้น

“โรงแรมเราสร้างพื้นที่ริมน้ำก็จริง แน่นอนว่าคนผ่านไปผ่านมา หากผ่านทางบกก็ต้องเข้าทางโรงแรม อันนี้ดิฉันไม่ปฏิเสธ แต่ดิฉันคิดว่าหนทางเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายทางเลือก บางคนบอกโรงแรมวิวสวย ได้เปรียบ แต่เราไม่ได้สร้างตึกสูงอลังการมาก เพราะเรานึกถึงความเป็นมิตรกับพื้นที่ กับสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ขายแค่วิว ทั้งนี้ถ้าคุณเป็นคนธรรมดา คุณอยากชมวิวเจ้าพระยา คุณนั่งเรือได้ ดิฉันว่าถ้าจะสร้างกำไร สร้างประโยชน์จากแม่น้ำควรสร้างด้วยความเป็นมิตรกับแม่น้ำ รัฐเองก็น่าจะรู้ว่าบรรยากาศเรือในเจ้าพระยาคึกคักเพียงใด อย่างไรก็ตามดิฉันเห็นควรให้แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แม่น้ำ และการคมนาคมที่สอดคล้องกับความจริงมากกว่า” นางมาริสากล่าว

จากนั้น ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ชี้แจงต่อว่า ความเป็นมาของโครงการนี้ เกิดขึ้นเพราะรัฐบาล ต้องการให้ทุกคนเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาในเชิงท่องเที่ยว และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม จึงได้จัดทำแผนแม่บท และออกแบบรายละเอียด โดยว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมย้ำว่า สิ่งที่จะสร้างไม่ใช่ ถนน หรือทางเลียบ แต่เป็นเส้นทางเท้า และทางจักรยาน เพื่อการเชื่อมต่อเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า ได้ศึกษาผลกระทบทุกด้านของ TOR และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นแล้ว พบว่า ขณะนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2 ส่วน คือ ผู้ที่สร้างที่ในพื้นที่ริมน้ำ และผู้ที่รุกล้ำลำน้ำ ซึ่งผู้ใช้ประโยชน์ และรุกล้ำลำน้ำทั้งหมดมี 140 ไร่


มีอะไรควรทำมากกว่าทางเลียบเจ้าพระยาไหม

ด้าน นายกฤต ไกรจิตติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตั้งคำถามต่อเจ้าของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่รัฐบาล เสนองบประมาณ 10,400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 30,600 ล้านบาท มีการนำเสนอไปที่ สนช. สปช. หรือไม่อย่างไร และโครงการนี้มีปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ ประเด็นคำถามโดยสรุปจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน

1.การยื่นเรื่อง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องทำเร่งด่วน ในช่วงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากน้อยแค่ไหน และให้กรุงเทพมหานครต้องตอบคำถามว่า ปัญหาที่มี และต้องแก้ไขเร่งด่วนนี้ คืออะไร
2.การทำงานระหว่างกรุงเทพมหานคร และสํานักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ในช่วงระยะทาง 14 กิโลเมตรแรก มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
3.กรุงเทพมหานครต้องตอบคำถามว่า TOR นั้น ศึกษาความเหมาะสมอย่างไร
4.ต้องศึกษาทั้งระบบ 57 กิโลเมตร ทั้งผลกระทบภาพรวม ต่อแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ที่มีส่วนได้เสีย
5.และสุดท้าย คือ การตั้งคำถามไปถึงการมีส่วนร่วมของแต่ละกระทรวงในคณะทำงาน ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และแบ่งออกเป็น 4 ชุด คือด้านโครงการ ด้านการออกแบบ และกฎหมาย เบื้องต้นจากการดูรายชื่อคณะกรรมมีเพียงกระทรวงกลาโหม และมหาดไทย เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นคณะอนุกรรมการบริหาร และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นอนุกรรมการด้านสถาปัตยกรรม จึงตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ผ่านความเห็นจากทุกกระทรวงแล้วหรือไม่

นายสมนึก จงมีวศิน อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ระบุว่า กสม. ให้กรุงเทพมหานคร และสถาบันการศึกษา นำส่ง
- มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างละเอียด ประกอบด้วยมติในเดือนธันวาคม 2558 และพฤศจิกายน 2559
-เอกสารอนุกรรมการแต่งตั้ง ที่ระบุอำนาจ หน้าที่อย่างชัดเจน
-หนังสือชี้แจง และการประเมินผลกระทบเบื้องต้น หรือ IEE ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อตอบคำถามว่าทำถึงขั้นไหน และทำไมทำแค่ IEE
-ข้อมูลและเอกสารการศึกษาในทุกมิติ รวมถึงข้อมูลทางชลศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.

ทำอีไอเอแค่ 7 กม. ทั้งที่ควรทำ 57 กม.

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล แต่โครงการการศึกษา เจ้าพระยานี้กลับใช้เวลาทั้งหมดเพียง 7 เดือน ซึ่งนับรวมตั้งแต่การศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน การศึกษาผลกระทบวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การศึกษา EIA รวมไปถึงการออกแบบแผนแม่บทที่จะใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาสองริมฝั่งแม่น้ำ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาตามระยะทาง 57 กิโลเมตรของโครงการทั้งหมด ไม่ใช่ศึกษาเพียงแค่ระยะทาง 7 กิโลเมตรของโครงการนำร่องทั้งหมด 14 กิโลเมตร เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบนแม่น้ำจะต้องมีผลกระทบกับแม่น้ำทั้งสายอย่างแน่นอน

ดร.สิตางศุ์ แม่น้ำเจ้าพระยาจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติการไหลย้อนของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากทางภาคเหนือที่ไหลลงสู่ทะเล จะสามารถไหลย้อนจากปากอ่าวป้อมพระจุลกลับขึ้นไปถึงอำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา คิดเป็นระยะทางประมาณ112 กิโลเมตร หากไม่มีการปิดประตูกั้นการเดินทางของน้ำ แต่หากความกว้างของแม่น้ำถูกทำให้แคบลงด้วยทางเลียบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้ความจุของแม่น้ำลดลง และส่งผลให้น้ำที่ไหลย้อนกลับมีแนวโน้มที่จะเอ่อล้นออกสองฝั่ง เนื่องจากช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่ต่ำกว่าแม่น้ำในจังหวัดอื่นๆ “ ต้องพูดกันตรงๆเลยว่ากทม.มีงานอื่นที่เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ตั้งมากมาย กรณีเจ้าพระยาไม่ได้เป็นปัญหาเลย จะเอาแค่ความสวยงาม ทัศนียภาพมาเดินหน้าไม่ได้ งบประมาณก็ไม่ใช่น้อยๆ อยู่จะมาเสนอคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ ยังแปลกใจอยู่ว่าทำเพื่ออะไร เสนอว่ายุติไปก่อนอะไรที่มีปัญหาก็ไปแก้ อะไรที่ไม่เป็นไม่ต้องไปคุ้ย ไปสะกิดให้เกิดปัญหา” ดร.สิตางศุ์ กล่าว

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง