วันนี้ (1 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านริมแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมใต้ถุนบ้านบางจุดสูงเกือบ 4 เมตร เริ่มเครียดมากขึ้น หลังกรมชลประทานยังไม่ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำตามกำหนด ชาวบ้านยืนยันว่าขณะนี้สถานการณ์วิกฤตมากขึ้น เพราะอีก 5 เซนติเมตรน้ำจะถึงพื้นบ้านชั้น 2
เปิ้ล ลำจวน ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าน้ำท่วมครั้งนี้ต่างจากปี 2554 เพราะแม้จะถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา แต่ก็มีการผันน้ำเข้าทุ่ง
“เมื่อปี 2554 ใช้เวลาเกือบเดือนกว่าน้ำจะเพิ่มขึ้นมาที่ชั้น 2 ของบ้าน แต่ปีนี้เพียงแค่อาทิตยืเดียวน้ำก็ท่วมถึงแล้ว ซึ่งตอนนี้วิกฤตแล้ว กรมชลประทานอ้างว่ารอชาวนาเกี่ยวข้าวให้เสร็จ ซึ่งชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ผันน้ำไปเก็บไว้ที่ทุ่งบ้าง” เปิ้ล ลำจวนกล่าว
วันนี้ชาวบ้านที่ได้รับความผลกระทบ ต่างรู้สึกผิดหวังที่ยังไม่เห็นการผันน้ำเข้าทุ่งตามกำหนด คือวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งจากนี้จะเตรียมใช้มาตรการเด็ดขาด ประท้วงให้มีการผันน้ำเข้าทุ่งภายใน1-2 วันนี้
ทั้งนี้ ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจทุ่งรับน้ำเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาพบว่า ประตูระบายน้ำวัดใบบัวและวัดกุฎี ที่เชื่อมแม่น้ำน้อยกับทุ่งรับน้ำ ต.หัวเวียง อ.เสนา ยังปิดสนิท แม้ภายในทุ่งจะมีน้ำ แต่ก็ไม่ใช่น้ำที่เกิดจากการเปิดประตูระบาย เป็นน้ำที่ซึมผ่านประตูเท่านั้น
ทุ่งรับน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี 4 แห่ง คือทุ่งป่าโมก จะเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นเดือนกันยายน รับน้ำได้ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร ทุ่งบางบาลเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นเดือนตุลาคม รับน้ำได้ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร ทุ่งผักไห่เก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมรับน้ำได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร และทุ่งเจ้าเจ็ดจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นเดือนตุลาคม รับน้ำได้240 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่กรมชลประทานชี้แจงสาเหตุที่ยังไม่ผันน้ำเข้าทุ่งว่า เนื่องจากกรมอุตุคาดการณ์จะมีฝนตกชุกช่วงสุดท้ายของฤดูกาลระหว่างต้นเดือน ต.ค.ถึงกลางเดือน ต.ค. พาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ดังนั้นการพร่องน้ำรอในตอนนี้ก็เพื่อจะรอรับน้ำก้อนใหญ่ที่จะมีมา โดยระดับน้ำจะเริ่มสูงสุดตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.เป็นต้นไป ดังนั้น กรมชลประทานจึงวางแผนสงวนทุ่งต่างๆที่เป็นแก้มลิงเอาไว้ตัดยอดน้ำในขณะนั้น จะเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะผันน้ำเข้าทุ่งในขณะนี้