ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เก็บ DNA ป้องกันนำช้างป่าสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน

สิ่งแวดล้อม
16 ต.ค. 59
18:40
726
Logo Thai PBS
เก็บ DNA ป้องกันนำช้างป่าสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน
ปี 59 ตรวจพบช้างที่เข้าข่ายการนำช้างป่าสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน 4 ตัว เป็นสิ่งที่ไซเตสเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้ไทยเร่งแก้ปัญหา การตรวจ DNA จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะบอกความเป็นแม่ลูก-เครือญาติช้างอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน

การเก็บตัวอย่างเลือดช้างที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมการปกครอง และกรมปศุสัตว์ เพื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับให้กรมการปกครองบันทึกเป็นข้อมูลในตั๋วรูปพรรณช้าง เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 60/2559 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน และไม่ให้ประเทศไทยถูกระงับการนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าและพืชป่าตามบัญชีอนุสัญญาไซเตส

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลของกรมการปกครองมีช้างอยู่ประมาณ 3,500 เชือก แต่ทะเบียนของกรมปศุสัตว์ที่มีการรักษาช้างบ้านทั้งหมดมีมากกว่านั้น อาจจะมีมากถึง 4,000 เชือก ตรงนี้จึงต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบจำนวนที่แท้จริง

ด้านนายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่า การเก็บตัวอย่างเลือดช้างที่อายุต่ำกว่า 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มักพบการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้านได้ง่ายกว่าช้างที่โตแล้วยังมีอุปสรรค เนื่องจากช้างที่อายุต่ำกว่า 8 ปี มีความซุกซน และแม่ช้างยังไม่ให้คนที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้ จึงต้องเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งอื่นเพื่อตรวจในเบื้องต้นก่อน

"ถ้าเก็บไม่ได้จริงๆ เมื่อลูกช้างอยู่กับแม่ สามารถเก็บเลือดแม่ช้างมาทำฐานข้อมูลพันธุกรรม ขณะเดียวกัน ตัวลูกช้างเอง ถ้าเก็บเลือดไม่ได้ ยังมีวิธีการอื่นในการเก็บขน อุจจาระ เพื่อเอาข้อมูลทางพันธุกรรมเหล่านี้มาเทียบเคียงกับแม่ได้ก่อน"

การเก็บตัวอย่างเลือดช้างในครั้งนี้ ยังช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์ช้างบ้าน แก้ไขปัญหาเลือดชิด หรือการผสมพันธุ์ระหว่างเครือญาติช้าง ที่ทำให้ช้างไม่แข็งแรง

ด้านนายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ ผู้ดูแลช้าง วังช้างอยุธยา แล เพนียด เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางแผนการเก็บตัวอย่างเลือดช้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของช้างในพื้นที่ห่างไกล

"ชาวบ้านที่อยู่ไกลๆ จะทันหรือไม่ และการย้ายช้างเข้าท้องถิ่นมีต้นทุนมหาศาล ช้าง 1 เชือก ค่าขนส่งประมาณ 10,000-20,000 บาท และหากขนส่งช้างเป็นพันๆเชือก อาจต้องมีมาตรการป้องกันเรื่องอุบัติเหตุ" นายลายทองเหรียญ กล่าว

ทั้งนี้นายทะเบียนท้องที่จะดำเนินการแจ้งให้เจ้าของช้างนำช้างที่อยู่ในครอบครอง ทั้งที่ได้จดทะเบียนและยังไม่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือดช้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 6 เดือน หากเจ้าของช้างไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าช้างเชือกนั้นเป็นช้างตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และให้ตกเป็นของแผ่นดิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง