ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติที่ประชุม คกก.ค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 69 จังหวัด อีก 8 จังหวัดเท่าเดิม

เศรษฐกิจ
19 ต.ค. 59
20:48
543
Logo Thai PBS
มติที่ประชุม คกก.ค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 69 จังหวัด อีก 8 จังหวัดเท่าเดิม
วันที่ 1 ม.ค.2560 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยจะถูกปรับขึ้นใหม่ตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด แต่ยังมีอีก 8 จังหวัด ที่ไม่ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งที่ 9/2559 วันนี้ (19 ต.ค.2559) ได้ข้อสรุปการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ คือ

กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส, ปัตตานี และ ยะลา

กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 5 บาท 49 จังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, สกลนคร, บุรีรัมย์, พัทลุง, สตูล

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 8 บาท 13 จังหวัด เช่น ขอนแก่น, นครราชสีมา, ชลบุรี, สงขลา, เชียงใหม่ เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ ภูเก็ต

คณะกรรมการค่าจ้างระบุว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างนี้ใช้สูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยยึดตามข้อเท็จจริง 10 รายการ อาทิ สภาพเศรษฐกิจ, ค่าครองชีพของลูกจ้าง, อัตราเงินเฟ้อ ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างนั้น เป็นไปตามการคิดคำนวณและความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

ซึ่งข้อสรุปวันนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างในวันนี้ จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ และจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2560

ภาคอุตสาหกรรมหนุนปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายพื้นที่

ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับข้อสรุปการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ให้ปรับไม่เท่ากันทุกพื้นที่ตามสภาพเศรษฐกิจที่ต่างกัน

วันนี้ (19 ต.ค.2559) นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยย้ำจุดยืนภาคเอกชนที่เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรแตกต่างในแต่ละพื้นที่ตามสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบ เช่น ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ความสามารถในการทำงาน เป็นต้น

นายเจนให้ความเห็นว่า เวลานี้ควรปรับสูตรค่าจ้างเป็นแบบลอยตัว หรือนายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอง เพราะความต้องการแรงงานมีมากกว่ากว่าจำนวนแรงงานที่มี ลูกจ้างจะมีโอกาสต่อรองได้มาก แต่รัฐบาลควรกำหนดกรอบเงื่อนไขในช่วงแรกเพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบ

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวจากคำสั่งซื้อของต่างประเทศ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกันยายนที่ผ่านมากลับมาสูงขึ้นครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน ซึ่งเป็นผลดีต่อการจ้างงานด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง