วันนี้ (24 ต.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายสุรพล ชามาตย์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานและการระบายน้ำทิ้งของโรงงานลงสู่แม่น้ำแม่กลอง แบ่งเป็น จ.สมุทรสงคราม 8 แห่ง และ จ.ราชบุรี 19 แห่ง ไม่พบโรงงานใดใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต
นายสุรพล กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมจะใช้ไซยาไนน์ในอุตสาหกรรมเหล็ก การชุบโลหะ และการผลิตเมลามีน ซึ่งไม่อยู่บริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ ยังสามารถพบสารไซยาไนน์ในการบ่มเพาะงานเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช ได้เช่นกัน
ต่างจากผลการวิเคราะห์ซากปลากระเบนของ รศ.สพ.ญ. นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบมีสารไซยาไนด์ตกค้างอยู่
ส่วน โรงงานราชบุรีเอทานอล ที่พบว่าน้ำกากส่าสุดท้าย แม้ผ่านการบำบัดแล้วยังมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เกิดรั่วไหลสู่คลองแฉลบและไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 4 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตาม พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 และออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ด้าน กรมควบคุมมลพิษได้ทำโมเดลจำลองค่าไนโตเจนและแอมโมเนีย หลังพบสาเหตุที่ทำให้ปลากระเบนตายเพราะมีระดับไนโตรเจนหรือแอมโมเนียในเลือดสูง ซึ่งอาจไปกระทบกับการทำงานของไต
ทั้งนี้ กากน้ำตาลเป็นสารตัวมีระดับแอมโมเนียสูง ทางกรมจึงเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงานมาทดสอบ หากพบว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ปลากระเบนในแม่น้ำแม่กลองเสียชีวิต ทางกรมจะฟ้องร้องตามกฎหมายให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำเสียในแม่น้ำแม่กลอง คลี่คลายจนเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว