ชาวนาใน จ.สุรินทร์ ทยอยนำข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 ไปขายให้กับโรงสีในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้รับซื้อข้าวเปลือกสดความชื้นไม่เกินร้อยละ 30 อยู่ตันละ 6,100-6,500 บาท ซึ่งผู้ประกอบการโรงสีระบุว่า ราคาข้าวโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ตันละ 6,000 กว่าบาท ส่วนกรณีที่มีชาวนาขายข้าวได้ตันละ 5,000 กว่าบาทนั้น อาจจะเป็นข้าวปลอมปนหรือข้าวเปลือกสดที่แช่น้ำ ซึ่งมีไม่มากนัก ส่วนชาวนาใน ต.เหนือเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด เร่งสูบน้ำออกจากนาข้าวที่กำลังตั้งท้องออกรวงเพื่อรอการเก็บเกี่ยวในเดือนหน้า นายตระกูล ถืกจรูญ ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ระบุว่า จะลงมือเกี่ยวข้าวเนื้อที่ 6 ไร่ แทนการจ้างรถเกี่ยวนวดเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดการปลอมปนและลดความชื้น ก่อนจะนำไปขายให้กับโรงสี
ราคาข้าวที่ตกต่ำทำให้ชาวนาหลายจังหวัดในภาคอีสาน เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงราคา นอกเหนือจากการจ่ายเงินช่วยเหลือในราคาไร่ละ 1,000 ทบาท แต่ไม่เกิน 10 ไร่ รวมทั้งควบคุมปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง
ด้านเว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส รายงานว่า ชาวนา ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ขายข้าวเปลือกมะลิ กข.15 กิโลกรัมละ 6-7 บาท และเมื่อโรงสีหักค่าความชื้นออกไปแล้ว ราคาที่ขายเหลือเพียง 6.40 บาท เป็นราคาต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
ขณะที่ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ช่องทางการขายข้าวจากชาวนาโดยตรงหรือขายทางออนไลน์ เช่นที่ เพจเฟซบุ๊กสุรินทร์วันนี้ โพสต์ข้อความระบุว่า ชาว ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ รวมกลุ่มสีข้าวหอมมะลิขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พร้อมด้วยเบอร์ติดต่อเพื่อการซื้อขาย
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่การจัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า "ลูกชาวนา ได้เวลามาช่วยพ่อ" เวทีประชุมเตรียมความพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในการขายข้าวช่วยชาวนาและการเตรียมพร้อมสู่การเป็นลูกชาวนารุ่นใหม่ จัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (30 ต.ค.2559) เวลา 13.00-16.00 น.ที่อาคารปฏิบัติการ (อาคาร 5) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน