ยังคงลุ้นกับผลการนับคะแนนเลือกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า วันนี้ (9 พ.ย.2559) หากวิเคราะห์นโยบายจะพบว่า นางฮิลลารี คลินตัน จะยังคงสานต่อนโยบายของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แต่ยังมีนโยบายอื่นที่น่าสนใจเช่นกัน
เริ่มที่นโยบายด้านการต่างประเทศ คลินตัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แน่นอนว่าต้องสนับสนุนให้สหรัฐฯ รักษาบทบาทของตัวเองในเวทีความมั่นคงโลกต่อไป เช่นการยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่อประ เทศพันธมิตร เพื่อป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังสนับสนุนข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านที่เพิ่งมีการลงนามไปเมื่อเร็วๆนี้
ส่วนในประเด็นของภัยคุกคามการก่อการร้าย และสงครามกลางเมืองในซีเรีย คลินตันหนุนให้มีการเพิ่มการโจมตีทางอากาศ ในพื้นที่ฐานที่มั่นของกลุ่มไอเอส ใช้ยุทธวิธีตัดเส้นทางเสบียงและยุทโธปกรณ์เพื่อขัดขวางการแผ่ขยายอิทธิพลของไอเอสในภูมิภาค รวมถึงประกาศเขตห้ามบิน หรือ No-fly zone ในซีเรีย
นอกจากนี้คลินตันยังเสนอให้สหรัฐอเมริกา รับผู้อพยพชาวซีเรียเพิ่ม จากเดิม 10,000 คนต่อปี เป็น 65,000 คนต่อปี
ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้า คลินตันตั้งเป้าเพิ่มภาษีกลุ่มผู้มีรายได้สูง และลดช่องโหว่ แก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อนำเงินภาษีที่ได้ไปสนับสนุนโครงการต่างๆ สำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนชั้นกลาง รวมถึงกระตุ้นการสร้างงานอย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่ง
ขณะเดียวกันเธอแสดงจุดยืนคัดค้านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย แปซิฟิก หรือ ทีพีพี เพราะมองว่าสหรัฐฯ เองยังขาดมาตรการที่จะช่วยให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และป้องกันการไหลออกของการจ้างงานไปยังประเทศอื่นๆ ได้
สำหรับนโยบายเชิงสังคม คลินตันชูนโยบายเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายควบคุมอาวุธปืน เพื่อลดการสูญเสีย ควบคุมและส่งกลับชาวต่างชาติที่อาจเป็นภัยคุกคาม หลังเกิดกรณีการโจมตีหลายครั้ง นโยบายเรียนฟรีระดับอุดมศึกษาสำหรับครอบครัวมีรายได้น้อย รวมทั้งสานต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพของโอบามา