ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"บีอาร์เอ็น" ปรับสภาองค์กรนำ ตั้ง "สะแปอิง บาซอ" เป็นประธาน

ภูมิภาค
22 พ.ย. 59
11:33
5,096
Logo Thai PBS
"บีอาร์เอ็น" ปรับสภาองค์กรนำ ตั้ง "สะแปอิง บาซอ" เป็นประธาน
สำนักข่าวเบนาร์นิวส์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านความมั่นคงของไทยว่า กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) มีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลในสภาองค์กรนำ โดยตั้งนายสะแปอิง บาซอ เป็นประธานสภาองค์กรนำ "พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย" ชี้อาจกระทบการพูดคุยสันติสุข

เว็บไซต์สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวานนี้ (21 พ.ย.2559) ว่า สำนักข่าวได้รับแถลงการณ์ของขบวนการบีอาร์เอ็นจากเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่ลงวันที่ 28 ก.ย.2559 ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาองค์กรนำชุดใหม่ว่า "เป็นการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และเพื่อความสำเร็จในการปฏิวัติของพรรค และสมาชิกแนวร่วมสภาปฏิวัติแห่งชาติปาตานี บีอาร์เอ็น-ซี ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์และการเมืองในปัจจุบัน"

สำหรับรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรนำทั้งเจ็ดรายนั้น ประกอบด้วย
1. นายสะแปอิง บาซอ (Sapaeing Basoh or Safie Basoe) ประธานฯ
2. นายอับดุลเลาะห์ วันมะนอ หรือ ดูนเลาะ แวมะนอ (Abdullah Wan Mat Noor) เลขาธิการ
3. นายดิน วันจิ (Din Wan Cik) หัวหน้าฝ่ายทหาร
4. นายหมัดนาเซร์มาโซ (Muhd Arsad Wansor ) เหรัญญิก
5. นายอดุล มูนี (Abdul Munir) ฝ่ายการเมือง
6. นายฮาซาน คาเต็บ (Hasan Khatib) ฝ่ายการเมืองระหว่างประเทศ
7. นายบุสตามัน สาและ (Bustaman Salih) ที่ปรีกษาองค์การนำดีพีพี

ด้าน พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพ กองทัพภาคที่สี่ ให้สัมภาษณ์เบนาร์นิวส์ว่า นายสะแปอิง บาซอ ที่เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ใน จ.ยะลา และมีลูกศิษย์จำนวนมากนั้น ถือเป็นบุคคลสำคัญใน "ระดับสัญลักษณ์" หรือ "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" ของฝ่ายแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอิทธิพลทางด้านความคิด

ดีเอสไอออกหมายจับนายสะแปอิงเมื่อปี 2547 ข้อหาเป็นกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่และซ่องโจร มีรายงานว่านายสะแปอิงหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล่าสุด พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับตัวนายสะแปอิงได้

ส่วนนายดูนเลาะ แวมะนอ หรือ "เป๊าะซูเลาะ" เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา ใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ถูกออกหมายจับใน ปี พ.ศ. 2547 และหลบหนีไปมาเลเซียเช่นกัน เพราะถูกกล่าวหาว่าใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นที่เกี่ยวข้องกับการปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ในตอนต้นปี 2547 นายดูนเลาะ ได้ถูกปรับตำแหน่งจากรองประธานสภากองกำลังทหารเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ

พล.อ.สำเร็จให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาองค์กรนำในครั้งนี้ อาจจะทำให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวนหนึ่ง สมาชิกขบวนการจีเอ็มไอพี ขบวนการบีเอ็นพีพี และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น

"มาราปาตานี ไม่มีสมาชิกที่มีบทบาทเหมือนนายดูนเลาะ แวมะนอ มาราปาตานี เขาจะสั่งกองกำลังอาร์เคเคให้ยุติ จะให้เกิดเขตปลอดภัยไม่ได้" พล.อ.สำเร็จ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นองค์กรของชาวเชื้อสายมลายูที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา กองกำลังอาร์เคเค จะรับคำสั่งจากหัวหน้ากลุ่ม โดยที่ส่วนใหญ่มักไม่รู้จักผู้สั่งการในระดับสูงกว่าหัวหน้าทีมของตน

ขณะที่สมาชิกอาร์เคเคผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งให้ความเห็นกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่นายสะแปอิงรับตำแหน่งประธานฯ เป็นทางการถือว่าไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะในทางปฏิบัติหรือเชิงสัญลักษณ์ นายสะแปอิง เป็นประธานของบีอาร์เอ็นอยู่ก่อนแล้ว

"สะแปอิง เป็นว่าที่ประธานมานานแล้ว การที่เขาได้ขึ้นก็ไม่แปลกอะไร คือ นโยบายอื่นๆ ยังคงปกติ มีประกาศเป็นสนามรบในจังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าเปลี่ยนผู้บริหาร แต่นโยบายหลักยังไม่เปลี่ยน เรานักรบยังต้องสู้กับอำนาจรัฐต่อไป" สมาชิกกองกำลังอาร์เคเค ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธ กล่าวกับสำนักข่าวเบนาร์นิวส์

ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์รายงานด้วยว่า รายชื่อสมาชิกสภาองค์กรนำที่มีการแต่งตั้งชุดใหม่ที่ออกโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนร่วมในองค์กรร่ม มาราปาตานีที่กำลังทำการเจรจาสันติสุขกับฝ่ายทางการไทย

อย่างไรก็ตาม "ไทยพีบีเอส" ได้สอบถามความเห็นจากแหล่งข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องไม่ปกติที่องค์กรลับอย่างบีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลในสภาองค์กรนำ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู ให้ข้อมูลว่าภาษามลายูที่เขียนในแถลงการณ์นั้นมีข้อผิดพลาดหลายจุด เอกสารนี้จึงน่าจะเป็นเอกสารปลอม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง