การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พ.ย.59 โดยมีอัตราเฉลี่ย 5-10 บาทนั้น
วันนี้( 25 พ.ย.2559) หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความสอดคล้องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มีคณะกรรมการไตรภาคี โดยคณะกรรมการค่าจ้าง จะมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งทั้งสองระดับจะประกอบด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน
ทั้งนี้ ในแต่ละปีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจะมีการสำรวจภาวะค่าครองชีพ ภาวะทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างนำมาพิจารณาว่าควรจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่อย่างไร จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอมายังส่วนกลางเพื่อให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 ได้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เพิ่มขึ้นตามกฎหมายรวม 10 ปัจจัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ผลิตภาพแรงงาน ราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามความเป็นจริงและสภาพเศรษฐกิจ
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 นั้น จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกค่าจ้างคงเดิมใน 8 จังหวัด กลุ่มที่สองขึ้นค่าจ้าง 5 บาท ใน 49 จังหวัด กลุ่มที่สามขึ้นค่าจ้าง 8 บาท ใน 13 จังหวัด และกลุ่มที่สี่ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 7 จังหวัด โดยทั้งหมดเป็นไปตามสูตรการคำนวณและข้อเท็จจริงบนพื้นฐานปัจจัยต่างๆ
กระทรวงแรงงาน ขอเรียนให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทราบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้า สำหรับที่จะให้แรงงานดำเนินชีวิตอยู่ได้ แต่ยังมีค่าจ้างอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นค่าจ้างตามฝีมือและความสามารถ มีอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันประกาศใช้แล้ว 67 สาขาอาชีพ และจะทยอยประกาศเพิ่มเติม