วันนี้ (2 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมามีนิตยสารมากถึง 500 หัวทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตลดลงเกือบเท่าตัว เหลือประมาณ 300 หัวในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มลดลงในช่วง 3-5 ปีจากนี้ จะเหลือ 50-60 หัวเท่านั้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะยังปรับตัวอยู่รอดได้ โดยเป็นกลุ่มผู้นำท็อป 3 ของนิตยสารแต่ละกลุ่ม โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ มีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่สื่อออนไลน์ มีรายได้สวนทางกับสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสื่อสิ่งพิมพ์มาจากจำนวนผู้ซื้อลดลงในอัตรา 20-30% และปัญหาหลัก คือโฆษณาลดลงระดับ 40-50% แม้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวสู่รูปแบบอี-แม็กกาซีน เพื่อเพิ่มช่องทางการขายและยอดดาวน์โหลดแล้วมีแนวโน้มเติบโต แต่ยังไม่สามารถทดแทนเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงในอัตราสูงจากนิตยสารเล่มได้ นั่นหมายความว่าเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงจากรูปเล่มไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่อี-แม็กกาซีน
ขณะที่จริงๆ แล้ว รายได้หลักของนิตยสารมาจากโฆษณากว่า 50% สถานการณ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้นิตยสารที่มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ต้องทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวทางการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เห็นชัดเจน คือ การเข้าสู่โลกออนไลน์ควบคู่กัน พร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดจำนวนหน้ากระดาษลง อาจจะไม่ใช่ทางรอดเสมอไป กลับกันอาจเป็นการทำลายตัวเองไปในปริยาย
นอกจากการเพิ่มขึ้นของสื่อออนไลน์แล้ว การปรับตัวของสื่อในปัจจุบันยังเป็นประเด็นที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มองว่าการผลิตเนื้อหาที่ซ้ำกับสังคมออนไลน์ เป็นเหมือนการนับถอยหลังของสื่อกระแสหลัก เพราะไม่มีทางเลือกให้กับผู้บริโภค จากนี้ไปไม่แต่ธุรกิจสื่อเท่านั้นที่ต้องปรับตัว คนทำงานในด้านสื่อ ก็ต้องปรับตัวอย่างมาก นั่นเป็นเหตุผลให้หลายคนเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วง "ปฏิวัติสื่อ"