ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมศุลกากรเร่งตรวจสอบเอกชนเลี่ยงภาษีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี

เศรษฐกิจ
6 ธ.ค. 59
18:30
534
Logo Thai PBS
กรมศุลกากรเร่งตรวจสอบเอกชนเลี่ยงภาษีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี
กรมศุลกากรเร่งตรวจสอบผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีว่าอาจมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี โดยอาศัยข้อตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน ทำให้ต้องพิสูจน์ว่ารถทั้งหมดใช้วัสดุจากมาเลเซียถึงร้อยละ 40 จริงหรือไม่

วันนี้ (6 ธ.ค.2559) รถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรกจำนวน 100 คัน ของบริษัท เบสท์ริน ผู้ชนะประมูล ยังอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หลังถูกกรมศุลกากรตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดแท้จริง ตามที่บริษัทซูเปอร์ ซาร่า ในฐานะผู้นำเข้ายื่นเอกสารแสดงขอใช้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรตามถิ่นกำเนิด หรือ ฟอร์ม ดี ภายใต้กรอบอาฟต้า

 

 

นายชัยยุทธ คำพูน รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า บริษัท ซูเปอร์ซาร่า นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี หมายเลขและโมเดลเดียวกัน 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 1 คัน บรรทุกในตู้คอนเทนเนอร์ ส่งทางเรือออกจากประเทศจีน โดยสินค้าถูกระบุตั้งแต่ศุลกากรจีนว่า เป็น "บัส" หรือ รถประจำทางโดยสารทั้งคัน ไม่ใช้ชิ้นส่วนประกอบ ก่อนเดินทางมาพักที่ท่าเรือกลางของมาเลเซีย และไทย โดยยังคงใช้ตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลขเดิม ไม่มีการเปลี่ยนตู้ เมื่อมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ชำระเงินเพียงค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 120,000 บาท

 

 

ต่อมาเพียง 2 วัน บริษัทฯนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี หมายเลขและโมเดลเดียวกับครั้งแรก จำนวน 99 คัน โดยเรือโรโร่ หรือเรือบรรทุกขนาดใหญ่ ใช้เส้นทางขนส่งลักษณะเดิม คือออกจากจีน เข้ามาเลเซีย เพียง 7 วัน ก่อนมาไทย ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับยื่นแบบฟอร์ม ดี ที่ระบุว่า รถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 100 คัน ผลิตในประเทศมาเลเซีย เพื่อขอรับการลดภาษี จากเดิมที่ต้องเสียภาษีรถที่ประกอบนอกอาเซียนร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 0

 

 

เจ้าหน้าที่จึงใช้อำนาจชะลอการนำสินค้าออก หลังตั้งข้อสังเกตว่าโรงงานมาเลเซียมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อการประกอบรถทั้ง 99 คัน ในระยะเวลาเพียง 7 วัน หลังออกจากประเทศจีน ตามคำกล่าวอ้างในเอกสารบริษัทจริงหรือไม่ จึงได้ประสานกรมศุลกากรมาเลเซีย เพื่อตรวจสอบเอกสารดังกล่าว พร้อมเตรียมลงพื้นที่ตรวจโรงงานประกอบรถเมล์เอ็นจีวี ตามที่บริษัทอ้าง วันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ จะเร่งพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด แต่ไม่ยืนยันว่าจะทันกำหนดทดลองใช้วันที่ 21 ธันวาคมนี้หรือไม่

 

 

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่า กรมฯ จะอนุญาตให้เอกชน นำรถออกจากท่าเรือแหลมฉบังได้ หากวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าไม่น้อยกว่าค่าภาษี ร้อยละ 40 และค่าปรับ ฐานความผิดสำแดงเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดเท็จ คันละประมาณ 4 ล้านบาท หรือ 400 ล้านบาท

 

 

ขณะที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หาก บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามสัญญาในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ และกระทำผิดเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง ขสมก. ก็มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง