วันนี้ (7 ธ.ค.2559) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังเปิดเผยร่างกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองต่อสาธารณชนว่า เป็นเพียงฉบับเผยแพร่เพื่อรับฟังความเห็น หากใครเสนอความเห็นที่มีเหตุผลก็สามารถปรับเปลี่ยนได้จนกว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สาระสำคัญของร่างกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต่างไปจากกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 คือ การกำหนดให้ต้องมีผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรค 500 คน แต่ละคน ต้องจ่ายเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เพราะการทำกิจกรรมทางการเมืองต้องมีเงินทุน และต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี และให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 คน ใน 4 ปี
และด้วยหลักการที่ต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำกับพรรค กรธ.จึงกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัดส่วนทั้งจากตัวแทนสาขาพรรค และกรรมการบริหารพรรคฝ่ายละไม่เกินกึ่งหนึ่ง พร้อมกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงความสมดุลด้านจิตใจและวัตถุ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำกิจกรรมทางการเมือง ตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล และส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีปรองดอง รู้จักความยอมรับความเห็นต่างโดยสุจริต หากไม่ดำเนินการตามนี้จะเข้าข่ายศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ พร้อมห้ามกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกยุบพรรคร่วมจัดตั้งหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ภายใน 10 ปี
ขณะที่นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยกจุดเด่นในมาตรา 28 ที่บัญญัติไม่ให้พรรคการเมืองถูกแทรกแซงในลักษณะการกระทำก้าวก่าย เพราะไม่ต้องการให้พรรคการเมืองถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน